กรอบแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระยะ 20 ปี
กรอบแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระยะ 20 ปี ตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ
ช่วงที่ 1 ระยะ 5 ปี ของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) เป็นระยะแรกของแผนเน้นวางพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อน มีการกำหนดแนวทางการพัฒนา ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ประเทศไทย ฉบับที่ 3 (2560-2564) และแผนพัฒนาของชาติ ฉบับที่ 12 วางพื้นฐานพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาในขั้นรายละเอียด เพื่อนำไปสู่ทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ 20 ปี แนวทางการพัฒนาที่สำคัญได้แก่
1. กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เพื่อการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและเป็นประตูการค้า ยกระดับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
2. พัฒนาระบบ NSW ให้เชื่อมโยงสมบูรณ์ และปรับปรุงกฎหมาย ให้รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
3. พัฒนามาตรฐานวิชาชีพโลจิสติกส์และบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูงที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป
ช่วงที่ 2 ระยะ 5-10 ปี ในระยะต่อไปจะเริ่มพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค เชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้ารูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) พัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่รูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Logistics) อย่างสมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งด้านการผลิต การบริการ การค้า การลงทุน และกิจกรรมโลจิสติกส์ ขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวก ในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความสมดุลในแนวทางการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างและระบบ (Hardware) อาทิ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ การเงิน และศุลกากร ด้านปัจจัยสนับสนุน (Software) เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน และด้านบุคลากร (People ware) อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการและแรงงาน ให้มีองค์ความรู้และทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
ช่วงที่ 3 กำหนดระยะ 20 ปี ระยะเป็นศูนย์กลาง ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค มุ่งสู่ความเป็นชาติการค้าและการบริการ ทิศทางและตำแหน่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ กำหนดให้ประเทศไทยพัฒนาสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ (Trading and Service Nation) เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีกรอบทิศทางผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่ความเป็นชาติการค้าเป็นศูนย์กลางการค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก สร้างประโยชน์จากห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและใช้ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรม
ที่มา เอกสาร แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564)
จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th
----------------------------------------
@ ลงข้อมูล / เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ
@ ที่มาข้อมูล www.iok2u.com