BA แนวคิดการจัดการ (Concepts of Management)
แนวทาง BASCIT ที่ใช้พัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรม *
ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการ ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตั้งแต่สมัยโบราณ ยุควิทยาศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งอาศัยทฤษฎีองค์กรสมัยใหม่ที่มีการปรับปรุงพัฒนาและสังเคราะห์แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดการอย่างกว้างขว้างยิ่งขึ้น การบริหารงานสมัยใหม่นี้ จะมุ่งเน้นทั้งคนงานและผลผลิต จึงต้องมีการผสมผสานแนวคิดจากทุกยุคทุกสมัย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทฤษฎีทางการจัดการพื้นฐานที่ควรทราบ เช่น
- ทฤษฎีวิเคราะห์ระบบ (System Approach) เป็นทฤษฎีที่มักใช้ใน การตรวจสอบระบบ ใช้หาข้อบกพร่องของกระบวนการทำงานที่มีเพื่อนำมาทำการปรุบปรุงการบริหารงานต่อไป โดยจะทำการวิเคราะห์จากสิ่งนำเข้าไปในกระบวนการ (Input) ทำการวิเคราะห์การทำงานในกระบวนการ (Process) ดูผลผลิตที่ได้ออกมา (Output) วิเคราะห์หาว่าสิ่งที่ได้ออกมามีความคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ลงทุนนำเข้าไปในกระบวนการหรือระบบ สรุปผลที่ได้นำมารวบรวมเป็นข้อมูลการทำงานหาจุดบกพร่องแล้วนำกลับไป (Feedback) ทำการปรับปรุงแก้ไขใหม่ หมุนเวียนต่อเนื่องไป
- ทฤษฎีระบบสังคม (Social System Theory) สร้างขึ้นเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในองค์กรที่จัดขึ้นเป็นระบบสังคมแบ่งเป็น 2 ด้านคือ
1) ด้านสถาบันมิติ ประกอบด้วย สถาบัน (Institution) ได้แก่ หน่วยงานหรือองค์กรที่มีวัฒนธรรม (Culture) ขององค์กรนั้นครอบคลุมอยู่ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และตำแหน่งต่าง ๆ ให้บุคคลปฏิบัติ มีกฎบทบาทตามหน้าที่ (Role) หลักการอย่างเป็นทางการธรรมเนียม (Ethics) ความคาดหวังของสถาบันหรือบุคคลภายนอก (Expectations) เป็นความคาดหวังที่คาดว่าสถาบันจะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
2) ด้านบุคลามิติ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ บุคลากรแต่ละคน (Individual) ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันนั้นเป็นบุคคล ในระดับต่าง ๆ มีวัฒนธรรมย่อยที่ครอบคลุมต่างไปจากวัฒนธรรมโดยส่วนรวม, บุคลิกภาพ (Personality) หมายถึง ความรู้ความถนัดความสามารถเจตคติอารมณ์และแนวคิด ซึ่งบุคคลที่ทำงานในสถาบันนั้นมีความแตกต่างปะปนกันอยู่และมีธรรมเนียมของแต่ละบุคคลเป็นอิทธิพลครอบงำอยู่ และความต้องการส่วนตัว (Need-dispositions) บุคคลที่มาทำงานมีความต้องการที่แตกต่างกันเช่น ต้องการเงินเลี้ยงชีพ เพราะความรักในงาน ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง ต้องการความก้าวหน้า ต้องการการยอมรับ หรือต้องการความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น และยังจะมีค่านิยมของตนเองครอบคลุมอยู่อีกด้วย (Getzels และ Guba, 2002)
- ทฤษฎีจูงใจในการปฏิบัติงานของมาสโลว์ (Abraham H. Maslow) ได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการของมนุษย์ไว้ 3 ด้านได้แก่
1) มนุษย์มีความต้องการอยู่เสมอและไม่มีสิ้นสุด สิ่งที่ต้องการขึ้นอยู่กับว่าเขามีสิ่งนั้นอยู่แล้วหรือยัง เมื่อความต้องการได้รับการตอบสนองแล้วก็จะมีความต้องการใหม่เข้ามาแทนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่เริ่มเกิดจนตาย
2) ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้วจะไม่เป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรมอีกต่อไป ยังคงมีเพียงความต้องการที่ยังไม่ได้รับตอบสนองเท่านั้นที่จะยังเป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรม
3) ความต้องการของมนุษย์ มีเป็นขั้นตามลำดับความสำคัญ เมื่อความต้องการในระดับต่ำได้รับการตอบสนองแล้ว ก็จะมีความต้องการในระดับสูงที่เรียกร้องต่อไป โดยได้มีการแบ่งลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ (Maslow's Need-hierarchy Theory) ไว้เป็น 5 อันดับ คือ
ขั้นที่ 1 ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) หมายถึง ความต้องการพื้นฐานของร่างกายซึ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด
ขั้นที่ 2 ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (security or safety needs) หมายถึง ความต้องการมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (belonging and love needs) หมายถึง ความต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้อื่น และต้องการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น โดยความต้องการในขั้นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ ความต้องการทางด้านร่างกายและความต้องการความปลอดภัย ได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลต้องการได้รับความรักและความเป็นเจ้าของ โดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ขั้นที่ 4 ความต้องการการยกย่อง (esteem needs) หมายถึง ความต้องการที่จะมองตนเองว่ามีคุณค่าสูง เป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่องจากทั้งตนเองและผู้อื่น หรือมีความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการได้รับการยกย่องนับถือและสถานะจากสังคม
ขั้นที่ 5 ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (self-actualization) หมายถึง ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจตนเองตามสภาพที่แท้จริง เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์ เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล
* ดูเพิ่มเติมที่ Maslow's Hierarchy of Need ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ ของ Maslow
- ทฤษฎีการจูงใจด้านสุขอนามัยของ เฮอร์เบอร์ก (Herzberg's Motivation Hygiene Theory) ได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สนับสนุนความพอใจในการทำงาน (Job Satisfaction) และองค์ประกอบที่สนับสนุนความไม่พอใจในการทำงาน (Job dissatisfaction) ประกอบด้วย
1) ตัวกระตุ้น (Motivator) คือ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดความพอใจงานที่ปฏิบัติ ความรู้สึกเกี่ยวกับความสำเร็จของงานความรับผิดชอบและโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
2) ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene) หรือ องค์ประกอบที่สนับสนุนความไม่พอใจในการทำงานเช่น การบังคับบัญชา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เงินเดือนค่าตอบแทน และนโยบายของการบริหาร
- ทฤษฎี X และทฤษฎี Y โดย Douglas Mc Gregor (1957) เสนอแนวคิดเป็น 2 ทฤษฎีที่ใช้ร่วมกันคือ
ทฤษฎี X ได้มีการตั้งสมมติฐานไว้ว่า
1) ธรรมชาติมนุษย์โดยทั่วไปไม่ชอบทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงหลบหลีกบิดพลิ้วในงานเมื่อมีโอกาส
2) มนุษย์มีนิสัยเกียจคร้าน จึงต้องใช้วิธีการข่มขู่ควบคุมสั่งการหรือบังคับให้ทำงานตามจุดประสงค์ให้สำเร็จ
3) โดยทั่วไปนิสัยมนุษย์ชอบทำงานตามคำสั่ง ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่ต้องการความมั่นคงอบอุ่นและปลอดภัย
และทฤษฎี Y ได้มีการตั้งสมมติฐานไว้ว่า
1) การที่ร่างกายและจิตใจได้พยายามทำงานนั้น เป็นการตอบสนองความพอใจอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับการเล่นและพักผ่อน
2) มนุษย์ชอบนำตนเองควบคุมตนเอง เพื่อดำเนินงานที่ตนรับผิดชอบให้บรรลุจุดประสงค์อยู่แล้ว ดังนั้นการบังคับควบคุมข่มขู่ลงโทษ จึงไม่ใช่วิธีการอย่างเดียวที่จะทำให้มนุษย์ดำเนินงานจนบรรลุจุดประสงค์ขององค์กร
3) มนุษย์ผูกพันตนเองกับงานองค์กรก็เพื่อหวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทน เมื่อองค์กรประสบความสำเร็จ
4) เมื่อสถานการณ์เหมาะสม มนุษย์โดยทั่วไปจะเกิดการเรียนรู้ ทั้งด้านการยอมรับความรับผิดชอบ และแสวงหาความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย
5) มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีคุณสมบัติที่ดีกระจายอยู่ทั่วไปทุกคนเช่น มีนโนภาพ มีความฉลาดเฉลียว มีความว่องไว หรือมีความสามารถในการแก้ปัญหาในองค์กร
6) สถานการณ์ของการดำรงชีวิตในระบบอุตสาหกรรมยุคใหม่มนุษย์ยังไม่มีโอกาสใช้สติปัญญาได้เต็มที่
- แนวคิดและทฤษฎีของ ศาสตราจารย์ ไมเคิล ยูจีน พอร์เตอร์ (Michael Eugene Porter, Michael E. Porter, Porter, M.E.) ไมเคิล พอร์เตอร์ เป็นนักคิดนักบริหารและนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงในส่วนของการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่มีชื่อเสียงของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีในเรื่อง กลยุทธ์การแข่งขัน เขาได้เสนอแนวคิดการประยุกต์หลักทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายเรื่อง สามารถใช้ในการนำไปช่วยในการวิเคราะห์การวางแผนและใช้กำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินกิจการทางธุรกิจ งานวิจัยจึงแยกกลุ่มงานที่ Porter ได้มีการทำมาสรุปรวมทฤษฎีที่นำมาใช้ประกอบในการวิจัยครั้งนี้
* ดูข้อมูลแนวคิดและทฤษฎี ไมเคิล พอร์เตอร์ เพิ่มเติมที่
- แนวทางการปฏิบัติงานสำหรับงานสายการผลิตแบบ POLC ของ Louis A. Allen จากหนังสือ Professional Management ในปี 1973 ผู้ที่พยายามยกระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกฎ 4 ประการ (POLC) มีหลักสำคัญในการบริหารจัดการในการนำทีมการบริหาร 4 ด้านคือ
1. การวางแผน (Planning)
2. การจัดองค์การ (Organizing)
3. ภาวะผู้นำ (Leading)
4. การควบคุม (Controlling)
การที่ผู้บริหารนำแนวคิดการบริหารนี้มาใช้จะสามารถนำความสำเร็จและความสุขมาสู่องค์การของตนเองได้
.
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราว การจัดการธุรกิจ (Business Management) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
การจัดการธุรกิจ (Business Management)
-------------------------------------------------