นักวินิจฉัยสถานประกอบการ (Shindanshi)
Shindan เป็นภาษาญี่ปุ่น มีความหมายถึง การวินิจฉัยสถานประกอบการ
การวินิจฉัยสถานประกอบการ Shindan เป็นระบบที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้ามาในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 5 ปีแรกเป็นการถ่ายทอดแนวทางและวิธีการสอนจากญี่ปุ่น และช่วง 5 ปีถัดมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรต่อโดยนักวินิจฉัยชาวไทย ในแต่ละปีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเปิดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นนักวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วจำนวนมาก หากสนใจที่จะก้าวสู่อาชีพ นักวินิจฉัยสถานประกอบการ (Shindanshi) จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร นักวินิจฉัยสถานประกอบการระดับวิชาชีพเสียก่อน โดยผู้ที่จะช่วยสถานประกอบการในการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพที่แท้จริง ของการบริหารจัดการในภาพรวม รวมถึงชี้แนะถึงจุดเด่น จุดด้อย รู้สถานภาพและศักยภาพของตนเอง รู้แนวทางที่จะปรับปรุงองค์กรเพื่อให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ต้องมีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ครอบคลุมในศาสตร์หลายด้าน
Shindanshi หรือนักวินิจฉัยสถานประกอบการ ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา วินิจฉัย วิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางแก้ไขปรับปรุงแก่สถานประกอบการผู้ที่จะเป็นนักวินิจฉัย จะต้องมีคุณสมบัติที่สะท้อนความเป็นมืออาชีพ โดยทั่วไปนักวินิจฉัยต้องมีความรู้ทักษะที่เหมาะสม มีจิตบริการเพื่อประโยชน์ของสังคม มีจริยธรรมทั้งความคิดและการปฏิบัติ หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน ยอมรับค่าตอบแทนอย่างสมเหตุสมผลและต้องผ่านการตรวจสอบทางสังคม เช่น การฝึกอบรม และการสอบมาตรฐานวิชาชีพนักวินิจฉัย คุณสมบัติของนักวินิจฉัยสามารถแบ่งได้ 3 ด้าน ได้แก่
1. คุณสมบัติทั่วไปของนักวินิจฉัย
1. มีความรักในอาชีพการวินิจฉัย
2. มีจิตใจบริการ
3. มีบุคลิกลักษณะที่น่าเชื่อถือ
4. มีวินัยในการทำงาน
5. มีความตรงต่อเวลา
6. มีระบบในการทำงาน
7. รักษาคำพูด รักษาสัญญา
8. รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม
9. มีความสามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกได้ดี
10. มีการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
2. คุณสมบัติด้านความรู้ของนักวินิจฉัย
1. มีความรู้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
2. มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์การวินิจฉัยธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการ บริหารทรัพยากรบุคคล การตลาดและการขาย การเงิน การบัญชี เป็นต้น
3. มีความรู้เบื้องต้นด้านกฎหมายและข้อระเบียบปฏิบัติสำหรับธุรกิจ
3. คุณสมบัติด้านทักษะของนักวินิจฉัย
1. มีทักษะในการประเมินวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า
2. มีทักษะในการวินิจฉัยแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ
3. มีทักษะในการสื่อสารทั้งการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ตลอดจนสื่อสารภาษากายที่ดี
4. มีจิตวิทยาและทักษะในการนำเสนอผลการวินิจฉัย
ผู้ที่เป็นนักวินิจฉัยจะต้องศึกษาหาความรู้ เก็บเกี่ยวทักษะประสบการณ์ในการวินิจฉัยและรักษาจริยธรรมต่อวิชาชีพนักวินิจฉัย เพื่อจะเป็นนักวินิจฉัยมืออาชีพต่อไป
ที่มา www.ict.dip.go.th
----------------------------------------