บทความแนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน
Information Technology Management Development Approach to Enhance the Supply Chain Management of Stone Crushing Industry.
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ, กัญญามน กาญจนาทวีกูล
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา
1) รูปแบบและวิธีในการจัดการธุรกิจของอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน
2) ลักษณะการจัดการโซ่อุปทานและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน
3) หาแนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน
ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods Design) เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ จังหวัดสระบุรี โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ตามแนวทางการสัมภาษณ์ (Interview Guide) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง (Purposive Selection) และเป็นบุคคลที่มีการแนะนำต่อ (Snowball) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ได้แก่ บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหินในพื้นที่ จังหวัดสระบุรี แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่เป็นอยู่ภายในองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน และกลุ่มบุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหินที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านนี้โดยตรง การรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสังเกต ทำการประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลไปพร้อมกับการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเริ่มด้วยการจัดระบบข้อมูล โดยการจำแนกและจัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ตามประเด็นที่ศึกษา วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลแต่ละประเด็นเพื่อหาข้อสรุป จากนั้นจึงวิเคราะห์ภาพรวมตามแนวคิด ทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวทางอธิบายปรากฏการณ์ และสรุปตามวัตถุประสงค์
ผลการวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหินเป็นการทำอุตสาหกรรมที่มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ค่อยมีความยุ่งยากซับซ้อน การผลิตที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตมากนัก ใช้คนในการทำงานไม่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะหรือความชำนาญพิเศษมากนัก ยกเว้นในส่วนงานเครื่องมือเครื่องจักรในการผลิตที่ต้องใช้คนที่มีความรู้ในงานซ่อมบำรุงรักษา เครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ เช่น เครื่องบดโม่หิน รถตัก และอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จคือ คุณภาพของทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต แต่อุตสาหกรรมที่มีส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ใกล้กันเนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งหินสัมปทานที่กำหนดไว้ ทำให้มีคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตที่ใกล้เคียงกันยากที่จะสร้างความแตกต่างของสินค้า มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงโดยเน้นการแข่งขันการขายที่ราคาเป็นหลัก ความสามารถในการแข่งขันของโรงโม่จะขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่งเพราะสินค้าเป็นของที่มีน้ำหนักแนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจอุตสาหกรรม จากงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะเรียกว่า BASCIT มีขั้นตอน ได้แก่
1) พัฒนาการจัดการบริหารธุรกิจ (Business Administration Management: BAM) เป็นการพัฒนาเบื้องต้น เน้นการวางแผนและการจัดการทรัพยากร (5M) ที่สำคัญในการผลิตให้มีความพร้อม มีการจัดการแผนธุรกิจที่ดีนำมาใช้จริงสามารถติดตามประเมินผลได้
2) พัฒนาการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management: SCM) เน้นเรื่องกระบวนการทำงานและขั้นตอนในการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐาน
3) พัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Management: ITM) โดยนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือ ช่วยในการจัดการงานด้านโซ่อุปทานและงานด้านบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน จะช่วยเพิ่มความสามารถในด้านธรุกิจได้ดียิ่งขั้น ควรดำเนินการตามขั้นตอน BASCIT โดยควรดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในแต่ละระยะก่อน เพราะทุกระยะมีความสำคัญและสัมพันธ์กับระยะถัดไป หากองค์กรสามารถทำได้ครบสมบูรณ์ทั้งหมด ก็จะสามารถใช้ข้อมูลสารสนเทศในการบริหารจัดการได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถนำสารสนเทศมาช่วยในการตัดสินใจวางแผนและการบริหารจัดการทำให้สามารถจัดการทรัพยากรที่มีได้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงสุด
---------------------------------------------