Open Data คืออะไร
Open Data คือ ข้อมูลเปิดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ เช่น การนำไปใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเผยแพร่ได้โดยใครก็ตาม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th นี้ เป็นข้อมูลเปิดของภาครัฐ (Open Government Data) หัวใจสำคัญของ Open Data แบ่งเป็น 3 ข้อ คือ
1. Availability and Access คือ ข้อมูลที่เปิดเผยต้องสามารถใช้งานได้ทั้งหมดและกรณีที่มีค่าใช้จ่ายจะต้องไม่มากไปกว่าการทำสำเนา สำหรับการเผยแพร่จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถแก้ไขได้ สามารถดาวน์โหลดฟรีผ่านอินเตอร์เน็ต
2. Re-use and Redistribution คือ ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องถูกจัดเตรียมภายใต้เงื่อนไข การอนุญาตให้นำมาใช้ใหม่และเผยแพร่ได้ รวมถึงการใช้ชุดข้อมูลร่วมกับชุดข้อมูลอื่น ๆ
3. Universal Participation คือ ทุกคนสามารถที่จะใช้ข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ การใช้ซ้ำ การเผยแพร่ โดยไม่ติดเรื่องข้อจำกัดใดๆ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าข้อมูลนั้นๆ เช่น หากเป็นข้อมูลที่ไม่อนุญาตให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ (non-commercial) จะไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือข้อมูลนั้นอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างเช่น ใช้ในการศึกษาเท่านั้น ก็จะไม่สามารถนำไปใช้ได้
** หัวใจสำคัญทั้ง 3 ประการนี้เป็นความสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน (interoperability) อย่างเป็นรูปธรรม
ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ Open Data
- Transparency เป็นการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลและสามารถตรวจสอบการดำเนินของภาครัฐตามนโยบายที่ประกาศให้ไว้กับประชาชน
- Releasing social and commercial value ในยุคดิจิตอลข้อมูลเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสร้างนวัตกรรม การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆเผยแพร่สู่สังคมและเชิงพาณิชย์
- Participation and engagement ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ กับประชาชนมากขึ้น
ประเภทของ License ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th
ในปัจจุบันข้อมูล ที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th จัดอยู่ในประเภทของ Non-exclusive licence เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้สิทธิในงานนั้นเอง และอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในงานนั้นได้อีก
ใครสามารถนำ Open Data ไปใช้ได้บ้าง
ทุกคนในประเทศไทยสามารถนำข้อมูล Open Data ไปใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการวิจัยค้นคว้าเชิงข้อมูลก็สามารถทำได้ไม่ติดข้อจำกัดใด ๆ
จะใช้งาน Open Data ต้องทำอย่างไร
ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดไฟล์ชุดข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ตามที่ต้องการในแต่ละหัวข้อที่ปรากฏบนเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง
การนำ Open License มาใช้ (การเปิดกว้างในทางกฎหมาย)
ในขอบเขตอำนาจศาลส่วนใหญ่ จะมีเรื่องของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในข้อมูลที่ป้องกันบุคคลที่สามจากการใช้งาน การนำกลับมาใช้ใหม่ และการแจกจ่ายข้อมูลโดยไม่ได้รับการอนุญาตที่ชัดเจน ดังนั้น การที่จะทำให้ข้อมูลของหน่วยงานสามารถให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ จะต้องใส่ license เข้าไปที่ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของชุดข้อมูล
License ที่หน่วยงานสามารถใช้ได้นั้นสำหรับข้อมูลที่ “เปิดเผย” สามารถใช้ license ที่สอดคล้องกับ Open Definition และทำการระบุว่าเหมาะสมสำหรับข้อมูลรายการที่ว่านี้ (พร้อมกับวิธีการใช้งาน) สามารถหาได้ที่ http://opendefinition.org/licenses/
คำแนะนำวิธีการใช้งานสั้นๆ 1 หน้าสำหรับการใช้ open data license สามารถหาได้ที่เว็บของ Open Data Commons http://opendatacommons.org/guide/
การทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งาน (การเปิดกว้างในทางเทคนิค)
Open data จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างในทางเทคนิคเช่นเดียวกับในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลจะต้องมีความพร้อมในการใช้งานในรูปแบบที่เครื่องสามารถอ่านได้ โดยยังพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักคือ
1. ความพร้อมใช้งาน - ข้อมูลควรจะมีราคาไม่มากกว่าค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาข้อมูล ซึ่งควรจะเป็นการให้ดาวน์โหลดฟรีจากอินเตอร์เน็ต ทำให้หน่วยงานไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆในการจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ใช้งาน
2. กลุ่มข้อมูล - ข้อมูลควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เช่น ข้อมูลทะเบียนที่ถูกเก็บรวบรวมภายใต้กฎข้อบังคับทั้งหมดนั้นควรจะมีพร้อมสำหรับดาวน์โหลดได้ ส่วน web API หรือ service ที่คล้ายๆ กันนั้นอาจมีประโยชน์มาก แต่ไม่ใช่ตัวแทนของการเข้าถึงกลุ่มข้อมูล
3. อยู่ในรูปแบบที่เปิดและเครื่องสามารถอ่านได้ - การนำข้อมูลที่ถือครองโดยภาครัฐมาใช้ไม่ควรจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านสิทธิบัตร และที่สำคัญต้องแน่ใจได้ว่าสามารถจัดเตรียมข้อมูลในรูปแบบที่เครื่องสามารถอ่านได้สำหรับการนำไปใช้งานในวงกว้าง เช่นรายงานทางสถิติที่ตีพิมพ์เป็นเอกสาร PDF (Portable Document Format) ซึ่งมีความยากมากสำหรับคอมพิวเตอร์ในการนำข้อมูลในรูปของ PDF ไปใช้งานต่อ
.
ที่มาข้อมูล https://data.go.th
รวบรวมข้อมูลและรูปภาพ www.iok2u.com
---------------------------------------------
ดูเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง
---------------------------------------------