แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Mega trends)
ในโลกปัจจุบันองค์กรธุรกิจต้องมีความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ และความเป็นพลวัต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี โดยจะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่าน หลายองค์กรธุรกิจต้องปิดตัวลง ในขณะที่มีอีกหลายองค์กรธุรกิจใหม่เติบโตขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตามอง เพื่อช่วยให้เราสามารถเห็นทิศทางและช่องทางในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้สำหรับ Global Mega trends ที่น่าสนใจมีอยู่ 4 ประเด็น ดังนี้
1. ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Technology Advancement) ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของทุกคน รวมทั้งการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กร ดังนั้นการนำเทคโนโลยีอันชาญฉลาดเข้ามาใช้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence, RFID, Cloud Computing, 3D Printing การทำให้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) นอกจากนี้ อินเตอร์เน็ตยังก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น Sharing Economy โดยการแบ่งปันทรัพยากรผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคมาเป็นผู้ส่งมอบ และการใช้ Social Media ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคไร้ขีดจำกัด และรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กรขยายออกไปได้อย่างกว้างขวางและไร้พรมแดน
2. ความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนในการส่งมอบคุณค่าสินค้า (Complicated Dynamic Value Chain) ในยุคการค้าเสรีปัจจุบันตลาดมีพลวัตและความซับซ้อนสูง จากการเปลี่ยนขั้วและการเกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ เช่น BRICS ความผันผวนของความต้องการของผู้บริโภคตามกระแสนิยม เกิด Demand-driven หรือยุคที่ผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อนตลาด ความคาดหวังในสินค้าและบริการที่ดี ทำให้ธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับ Service-based อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้นและมาตรการกีดกันทางการค้าสากลที่เป็น Non-tariff Barriers นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และการก่อการร้าย ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจผันผวนหรือหยุดชะงักได้ องค์กรจึงไม่ควรมองข้ามกระบวนการ BCM เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าว
3. ความต้องการการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Growing Sustainability) ผลกำไรไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จของทุกองค์กรอีกต่อไป ความตื่นตัวในปัญหาด้านสังคมไม่ว่าจะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและชีวอนามัย หรือสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องคำนึงถึงแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น CSR, Carbon Footprint, Green Supply Chain ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงในระดับภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
4. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประชากร (Demographic Changes) จากสภาพสังคมแบบ Urbanization ที่มีการเจริญเติบโตของสังคมเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชากรกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Ageing Society หรือสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ สัดส่วนพลเมืองที่มีรายได้ในระดับปานกลางเพิ่มขึ้น แสดงถึงความเป็นอยู่ที่ดีและมีความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานที่สามารถไปได้ทั่วโลกทำให้เกิด High Mobility of Workforce ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติและขาดแคลนผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้าน ในขณะที่สังคมให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างในด้านอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือผู้พิการ
จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการจัดการโซ่อุปทานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรตลอดโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดของโซ่อุปทาน กล่าวคือเป็นผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าปลีก หรือผู้บริโภคก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวที่ว่า การที่เราหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับเราก้าวถอยหลังนั่นเอง
ที่มา http://www.logistics.go.th/en/news-article/bol-article/7034-global-megatrends
? Web: www.iok2u.com
? Facebook: https://www.facebook.com/iok2u