เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ
นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์
จาก : Logistics Forum ปีที่ 7 ฉบับที่ 37 กันยายน - ตุลาคม 2559
ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงโลกของอุตสาหกรรม 4.0 (Industries 4.0) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และแนะนำถึงการเตรียมตัวขององค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองภายใต้ยุคใหม่นี้ ซึ่งหลายองค์กรอาจประสบปัญหาในการเข้าสู่ยุค 4.0 เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองได้ แม้จะมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) แต่ก็ยังพึ่งริเริ่ม ไม่สามารถนำความรู้และงานวิจัยมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ดังนั้น หากต้องการเติบโตควรมีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาที่คิดจะต่อยอดผลงานอย่างจริงจัง โดยเน้นในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation)
นวัตกรรม คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม (ที่มา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 2549) ซึ่งเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรม เรามักจะนึกถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฮเทค เช่น รถยนต์ไฮบริด ไอแพด สมาร์ทโฟน ระบบอินเตอร์เน็ต หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จรู้จักกันทั่วโลก แต่ความเป็นจริงแล้วนวัตกรรมอาจอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ แนวคิด การบริการ หรือกระบวนการทำงาน ที่มีวิวัฒนาการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าการปฏิวัติสิ่งใหม่ขึ้นมาในคราวเดียว ยิ่งองค์กรสามารถรวมความคิดในการแก้ปัญหาร่วมกับเทคโนโลยีของธุรกิจได้มากเพียงใด ยิ่งมีโอกาสเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรมากขึ้นเท่านั้น
องค์ประกอบของนวัตกรรม ได้แก่
- ความใหม่ คือ สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือเคยมีการทำมาแล้วในอดีตแต่ไม่สำเร็จนำมารื้อฟื้นทำขึ้นใหม่ หรือมีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิมมาเป็นสิ่งใหม่
- ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาเกิดเป็นสิ่งใหม่ โดยใช้องค์ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์นำมาสร้างและพัฒนาใหม่ ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบ
- มีประโยชน์ คือ การนำไปใช้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาในการดำเนินงานได้ ในแง่ธุรกิจต้องเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรืออาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงาน
- สามารถพัฒนาต่อได้ คือ สามารถนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาหรือใช้แก้ปัญหาในงานต่อได้ ตอบโจทย์ปัญหาที่มีและสามารถพัฒนาต่อได้ไม่สิ้นสุด
ช่องทางการพัฒนาองค์กรไปสู่นวัตกรรรม ประกอบด้วย
- การแก้ปัญหา (Problem) กรณีที่องค์กรมีปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กร ไม่สามารถแก้ไขหรือจัดการได้ด้วยวิธีการทำงานหรือเครื่องมือแบบเดิม จึงต้องคิดค้นวิธีการทำงานใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา
- การปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม (Improvement) ในกรณีที่องค์กรไม่มีปัญหา แต่ต้องการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ให้คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้จะทำให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่ และทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่าปัจจุบัน
- การใช้ระบบการจัดการความรู้ (Knowledge management) การใช้ระบบจัดการความรู้ที่ดีในด้านข้อมูล (Data) ด้านสารสนเทศ (Information) และด้านความรู้ (Knowledge) จะช่วยให้มีการวิเคราะห์ประเมินผลที่ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยให้องค์กรมองเห็นช่องทางที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แปลก แตกต่าง โดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดได้ไม่ยาก
ขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรม ประกอบด้วย
- การคิดค้น (Invention) เป็นการกำหนดโครงร่างนวัตกรรม ประกอบด้วยการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรม การกำหนดโครงสร้างรูปแบบของนวัตกรรมจัดทำเป็นร่างแผนพัฒนาต่อไป
- การพัฒนา (Development) เป็นขั้นตอนการลงมือสร้างนวัตกรรมตามที่ร่างไว้ ทำการตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรมที่พัฒนาว่าตรงความต้องการและแก้ไขปัญหาได้จริงไหม หากพบข้อบกพร่องหรือปัญหาให้ปรับปรุงแก้ไข
- การนำไปใช้จริง (Implement) เป็นขั้นที่มีการทดลองใช้นวัตกรรม และการประเมินผลการใช้นวัตกรรม
- การเผยแพร่ (Promotion) เป็นขั้นของการเผยแพร่ผลงานนวัตกรรม การนำเสนอสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้น หรือพัฒนาสู่การจำหน่ายในท้องตลาด
การเจริญเติบโตขององค์กรถือเป็นเป้าหมายของธุรกิจ ปัจจุบันองค์กรขนาดกลางและเล็กมักมองข้ามหรือละเลยการสร้างนวัตกรรมในตลาดเดิม หวังที่จะใช้การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่างและสามารถเป็นผู้นำในด้านธุรกิจ แต่การเปิดตลาดหรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเป็นเรื่องที่ยาก เราควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่กลับมาเริ่มพัฒนาจากผลิตภัณฑ์หรือความรู้ความสามารถที่มีอยู่ โดยใช้การสำรวจตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เน้นพัฒนางานเดิมที่มีความชำนาญ ไม่ควรที่จะละเลยความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ดีและน่าสนใจได้ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า
ที่มา
ที่มาภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราว Innovation เพิ่มเติมคลิกที่นี่
innovation นวัตกรรม (Innovation) รวมข้อมูล
-------------------------------------------------