หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ จากหลักเกณฑ์ที่ ราชบัณฑิตยสถาน
อักษรย่อ หรือ คำย่อ หรือ รัสพจน์ เป็นการนำอักษรบางตัวในคำหนึ่ง ๆ มาใช้เรียกแทนคำเต็ม โดยมากจะเป็นพยัญชนะ อาจใส่จุดหรือไม่ใส่หลังอักษรนั้น นิยมนำอักษรต้นพยางค์แต่บางครั้งก็มีการใช้อักษรอื่นในพยางค์มาแทนก็มี และบางครั้งอักษรย่อก็สามารถอ่านได้เป็นพยางค์ใหม่ หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ จากหลักเกณฑ์ที่ ราชบัณฑิตยสถาน ได้เผยแพร่ไว้ได้กำหนดแนวทางคือ
คำย่อ ที่เราพบหรือได้เจอทางสื่อต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันเช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อโชเชี่ยลต่าง ๆ นั้น ราชบัณฑิตยสถานโดย คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อไว้แล้ว เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานในการใช้คำย่อสำหรับสื่อความ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้คำย่อ
จากหนังสือ “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ”ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๕๑ ระบุหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อไว้ท้ายเล่มของหนังสือดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
๑. ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกของคำเป็นตัวย่อ
๑.๑ ถ้าเป็นคำคำเดียวให้ใช้ตัวย่อตัวเดียว แม้ว่าคำนั้นจะมีหลายพยางค์ก็ตาม ตัวอย่างเช่น ๕ วา = ๕ ว., จังหวัด = จ., ๓.๐๐ นาฬิกา = ๓.๐๐ น., ศาสตราจารย์ = ศ.
๑.๒ ถ้าใช้ตัวย่อเพียงตัวเดียวแล้วทำให้เกิดความสับสน อาจใช้พยัญชนะต้นของคำถัดไปเป็นตัวย่อด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ทหารบก = ทบ., ตำรวจ = ตร., อัยการ = อก.
๒. ถ้าเป็นคำสมาสให้ถือเป็นคำเดียว และใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกเพียงตัวเดียวเช่น มหาวิทยาลัย = ม., วิทยาลัย = ว.
๓. ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะของแต่ละคำเช่น ชั่วโมง = ชม.โรงเรียน = รร.
๔. ถ้าคำประสมประกอบด้วยคำหลายคำ มีความยาวมาก อาจเลือกเฉพาะพยัญชนะต้นของคำที่เป็นใจความสำคัญ ทั้งนี้อักษรย่อรวมแล้วไม่ควรเกิน ๔ ตัวเช่น คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ = กปร. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน = สพฐ.
๕. ถ้าใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำแล้วทำให้เกิดความสับสน ให้ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปแทนเช่น พระราชกำหนด = พ.ร.ก. พระราชกฤษฎีกา = พ.ร.ฎ.
๖. ถ้าพยางค์ที่มี ห เป็นอักษรนำ เช่น หญ หล ให้ใช้พยัญชนะตัวที่ออกเสียงเป็นตัวย่อ เช่น สารวัตรใหญ่ = สวญ. ทางหลวง = ทล.
๗. คำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรควบกล้ำหรืออักษรนำ ให้ใช้อักษรตัวหน้าตัวเดียว เช่น ประกาศนียบัตร = ป. ถนน = ถ.
๘. ตัวย่อไม่ควรใช้สระ ยกเว้นคำที่เคยใช้มาก่อนแล้ว เช่น เมษายน = เม.ย.โทรศัพท์ = โทร.เสนาธิการ = เสธ.
๙. ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้มาก่อนแล้ว เช่น ตำบล = ต. รองศาสตราจารย์ = รศ.พุทธศักราช = พ.ศ.
๑๐. เว้นวรรคเล็กหน้าตัวย่อทุกแบบ และเว้นวรรคระหว่างกลุ่มอักษรย่อ ส่วนการอ่านคำย่อต้องอ่านเต็ม ยกเว้นกรณีที่คำเต็มนั้นยาวมากและคำย่อนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว อาจอ่านตัวย่อเรียงตัวไปก็ได้ เช่น ก.พ. อ่านว่า กอ-พอ.
๓. ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ ตัวอย่างเช่น
(๑) ชั่วโมง = ชม.
(๒) โรงเรียน = รร.
๔. ถ้าคำประสมประกอบด้วยคำหลายคำมีความยาวมาก อาจเลือกเฉพาะพยัญชนะต้นของคำที่เป็นใจความสำคัญ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน ๔ ตัว ตัวอย่างเช่น
(๑) คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ = กปร.
(๒) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ = สปช.
๕. ถ้าใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำแล้วทำให้เกิดความสับสน ให้ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปแทน ตัวอย่างเช่น
(๑) พระราชกำหนด = พ.ร.ก.
(๒) พระราชกฤษฎีกา = พ.ร.ฎ.
๖. ถ้าพยางค์ที่มี ห เป็นอักษรนำ เช่น หญ หล ให้ใช้พยัญชนะตัวที่ออกเสียงเป็นตัวย่อ ตัวอย่างเช่น
(๑) สารวัตรใหญ่ = สวญ.
(๒) ทางหลวง = ทล.
๗. คำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรควบกล้ำหรืออักษรนำ ให้ใช้อักษรตัวหน้าตัวเดียว ตัวอย่างเช่น
(๑) ประกาศนียบัตร = ป.
(๒) ถนน = ถ.
(๓) เปรียญ = ป.
๘. ตัวย่อไม่ควรใช้สระ ยกเว้นคำที่เคยใช้มาก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น
(๑) เมษายน = เม.ย.
(๒) มิถุนายน = มิ.ย.
(๓) เสนาธิการ = เสธ.
(๔) โทรศัพท์ = โทร.
๙. ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น
(๑) ตำบล = ต.
(๒) รองศาสตราจารย์ = รศ.
(๓) พุทธศักราช = พ.ศ.
๑๐. ให้เว้นวรรคเล็กหน้าตัวย่อทุกแบบ ตัวอย่างเช่น
(๑) ประวัติของ อ.พระนครศรีอยุธยา
(๒) มีข่าวจาก กทม.ว่า
๑๑. ให้เว้นวรรคระหว่างกลุ่มอักษรย่อ ตัวอย่างเช่น
(๑) ศ. นพ.
(๒) รศ. ดร.
๑๒. การอ่านคำย่อ ต้องอ่านเต็ม ตัวอย่างเช่น
(๑) ๐๕.๐๐ น. อ่านว่า ห้า-นา-ลิ-กา
(๒) อ.พระนครศรีอยุธยา อ่านว่า อำ-เพอ-พระ-นะ-คอน-สี-อะ-ยุด-ทะ-ยา
ยกเว้น กรณีที่คำเต็มนั้นยาวมากและคำย่อนั้นเป็นยอมรับกันทั่วไปแล้ว อาจอ่านตัวย่อเรียงตัวไปก็ได้ ตัวอย่างเช่น
ก.พ. อ่านว่า กอ-พอ
ที่มา :
หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖ หน้า ๖๗-๗๐
-----------------------------------------------