ผลกระทบและโอกาสของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ในการก้าวสู่นโยบายความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality)
ความสำคัญของนโยบายความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ต่อความยั่งยืนของ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือสภาวะที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา โดยทั่วไปแล้วการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสามารถดำเนินการได้หลายลักษณะ และแนวทางที่หลายประเทศให้ความสำคัญ คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ อาจจะอาศัยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon offsets) ผ่านการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น การปลูกป่าหรือการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.9% ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 331 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2562 จากข้อมูลที่สรุปโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (https://sdgs.nesdc.go.th) ระบุว่า ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอ การมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCC โดยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ(Business-as-Usual; BAU) และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี 2573 ในระยะที่ผ่านมา ได้มีการบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายและแผนระดับชาติ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อย ก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) จากติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 14 หรือลดได้ทั้งสิ้น 51.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (MtCO2eq) ในปี 2563 ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ในระยะแรกแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใน NDC ได้ภายในปี 2573
สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการลดลงของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก จากการที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ในขณะที่ยุโรปกำหนดเป้าหมายให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งเป้าหมายนี้จะกระทบต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะส่งออกไปยังยุโรปหรือภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ผลกระทบดังกล่าวทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ เพื่อความยั่งยืน
นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดในประเทศคู่ค้าของไทย จะเป็นทั้งโอกาสและอาจจะเกิดผลกระทบกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมและการดำเนินงานอย่างจริงจังตามแผนและเป้าหมาย รวมทั้งต้องมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยในเวทีการค้าโลก
ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
-------------------------------------------------
ชมอัลปั้มภาพเพิ่มเติมคลิกที่นี่
|
--------------------------------------------------------------------