e-book me วิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติ (statistical seismology)
เอกสารที่มีแชร์จากเครือข่ายความรู้มิตรเอิร์ธ (mitrearth) ขออนุญาตินำมาแชร์เพื่อช่วยเผยแพร่อีกทางครับ
วิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติ (statistical seismology) เป็นศาสตร์การศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว โดยใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว (earthquake catalogue) ที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว เป็นข้อมูลหลักในการวิเคราะห์ โดยจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติในหัวข้อ “International Workshop on Statistical Seismology (Statsei)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำจนกระทั่งการประชุมครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20-24 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ณ เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ประกอบกับบทความวิจัยระดับนานาชาติจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าการศึกษาวิจัยด้านวิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิตินั้นมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงการศึกษาวิจัยด้านวิทยาคลื่นไหวสะเทือนในปัจจุบัน
สืบเนื่องจากการการเคลื่อนที่และกระทบกระทั่งกันของ 1) แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) 2) แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) และ 3) แผ่นเปลือกโลกทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) หรือ อาเซียน (ASEAN) มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญมากมายกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งเขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ที่วางตัวอยู่ตามขอบของแผ่นเปลือกโลกและรอยเลื่อน (fault) ที่กระจายตัวอยู่ภายในแผ่นเปลือกโลก ซึ่งจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว บันทึกประวัติศาสตร์รวมทั้งหลักฐานทางธรณีวิทยา บ่งชี้ว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวดังกล่าวยังคงมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวรวมทั้งภัยพิบัติสึนามิต่อประชาคมอาเซียนได้ในอนาคต
ดังนั้น ผู้วิจัย (ผู้เขียน) และคณะวิจัย จึงมีความสนใจและมุ่งมั่นที่จะศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยแนวคิดวิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติ และจากการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง ผู้วิจัย (ผู้เขียน) และคณะวิจัย สามารถประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวในรูปแบบของตารางสรุปผลการประเมินและแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ 1) แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ (maximum magnitude) 2) คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (return period) 3) โอกาสเกิดแผ่นดินไหว (probability of occurrence) 4) พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต (prospective earthquake source) และ 5) แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวและความรุนแรงแผ่นดินไหว (earthquake ground shaking and earthquake intensity) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในแต่ละพื้นที่ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว
และเพื่อที่จะสรุปภาพรวมสถานการณ์ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน ผู้วิจัย (ผู้เขียน) ได้ประมวลผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวร่วมกับงานวิจัยในอดีตจากต่างประเทศ และนำเสนอผลการประมวลในรูปแบบของหนังสือเล่มนี้ โดยแบ่งย่อยและจัดหมวดหมู่องค์ความรู้ด้านวิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติที่สำคัญออกเป็น 7 องค์ความรู้ ได้แก่
บทที่ 1 แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน (earthquake source in ASEAN)
บทที่ 2 ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวและความสมบูรณ์ (earthquake catalogue and completeness)
บทที่ 3 พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (earthquake activity)
บทที่ 4 ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress)
บทที่ 5 การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหว (seismicity rate change)
บทที่ 6 ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (region-time-length algorithm)
บทที่ 7 การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว (seismic hazard analysis)
ผู้วิจัย (ผู้เขียน) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่สนใจสถานการณ์ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวด้วยแนวคิดวิทยาคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติ รวมทั้งเป็นข้อมูลสนับสนุนสำคัญต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการวางแผนป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
ด้วยความเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร. สันติ ภัยหลบลี้
ผู้วิจัย (ผู้เขียน)
ที่มา https://www.facebook.com/mitrearth
ภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com