พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558
สนใจดาวน์โหลดเอกสารพระราชบัญญัติคลิกที่นี่
พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 มีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตจำนวนมากการประกอบกิจการของประชาชนจะต้องขออนุญาตจากส่วนราชการหลายแห่ง อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตบางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสารและหลักฐานที่จำเป็น รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาไว้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการยื่นคำขออนุญาตดำเนินการต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและมีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขออนุญาตซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ มีรายละเอียด
ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๑๗ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับกับบรรดาการอนุญาต การจดทะเบียนหรือการแจ้ง ที่มีกฎหมายหรือกฎกําหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง ก่อนจะดําเนินการใด บทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎใดที่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
“อนุญาต” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บุคคลใดกระทําการใดที่มีกฎหมายกําหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทําการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติการจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตรและการให้อาชญาบัตรด้วย
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งกฎหมายกําหนดให้มีอํานาจในการอนุญาต
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต
“กฎหมายว่าด้วยการอนุญาต” หมายความว่า บรรดากฎหมายที่มีบทบัญญัติกําหนดให้การดําเนินการใดหรือการประกอบกิจการใดจะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะดําเนินการได้
“คําขอ” หมายความว่า คําขออนุญาต
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(๑) รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
(๒) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดําเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดีการบังคับคดี และการวางทรัพย์
(๓) การดําเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
(๔) การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๕) การอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารด้านยุทธการ รวมทั้งตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์ และกฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน
การยกเว้นไม่ให้นําบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การดําเนินกิจการใดหรือกับหน่วยงานใดนอกจากที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๖ ทุกห้าปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้อนุญาตพิจารณากฎหมายที่ให้อํานาจในการอนุญาตว่าสมควรปรับปรุงกฎหมายนั้น เพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ในกรณีที่มีความจําเป็นผู้อนุญาตจะพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย หรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนในกําหนดระยะเวลาที่เร็วกว่านั้นก็ได้
ให้ผู้อนุญาตเสนอผลการพิจารณาตามวรรคหนึ่งต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณายกเลิกการอนุญาต หรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบการพิจารณาด้วย
มาตรา ๗ ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดให้การกระทําใดจะต้องได้รับอนุญาต ผู้อนุญาตจะต้องจัดทําคู่มือสําหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคําขอขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต และรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคําขอ และจะกําหนดให้ยื่นคําขอผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการมายื่นคําขอด้วยตนเองก็ได้
คู่มือสําหรับประชาชนตามวรรคหนึ่งให้ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่กําหนดให้ยื่นคําขอ และเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อประชาชนประสงค์จะได้สําเนาคู่มือดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดสําเนาให้โดยจะคิดค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณีก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้ระบุค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในคู่มือสําหรับประชาชนด้วย
ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตที่กําหนดตามวรรคหนึ่งว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาที่กําหนดดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อนุญาตดําเนินการแก้ไขให้เหมาะสมโดยเร็ว
เพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ให้ส่วนราชการจัดให้มีศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคําขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตไว้ณ ที่เดียวกันตามแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกําหนด
มาตรา ๘ ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการรับคําขอจะต้องตรวจสอบคําขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคําขอให้ถูกต้องครบถ้วน หากเห็นว่าคําขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดเอกสารหรือหลักฐานใดให้แจ้งให้ผู้ยื่นคําขอทราบทันที ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคําขอดําเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจดําเนินการได้ในขณะนั้นให้บันทึกความบกพร่อง และรายการเอกสารหรือหลักฐานที่จะต้องยื่นเพิ่มเติม พร้อมทั้งกําหนดระยะเวลาที่ผู้ยื่นคําขอจะต้องดําเนินการแก้ไขหรือยื่นเพิ่มเติมไว้ในบันทึกดังกล่าวด้วยและให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ยื่นคําขอลงนามไว้ในบันทึกนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มอบสําเนาบันทึกตามวรรคหนึ่งให้ผู้ยื่นคําขอไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ผู้ยื่นคําขอได้จัดทําคําขอถูกต้องและแนบเอกสารหรือหลักฐานครบถ้วนตามที่ระบุในคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ แล้ว หรือได้แก้ไขหรือยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมครบถ้วนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนําหรือตามที่ปรากฏในบันทึกตามวรรคหนึ่งแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้ และจะปฏิเสธการพิจารณาคําขอนั้นโดยอาศัยเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของคําขอหรือความไม่ครบถ้วนของเอกสารหรือหลักฐานไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ความไม่สมบูรณ์หรือความไม่ครบถ้วนนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นผลให้ไม่อาจอนุญาตได้ในกรณีนี้ให้ผู้อนุญาตสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้ดําเนินการทางวินัยหรือดําเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๙ ในกรณีที่ผู้ยื่นคําขอไม่แก้ไขเพิ่มเติมคําขอหรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบหรือตามที่ปรากฏในบันทึกที่จัดทําตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืนคําขอให้แก่ผู้ยื่นคําขอพร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคําขอให้ทราบด้วยผู้ยื่นคําขอจะอุทธรณ์คําสั่งคืนคําขอตามวรรคหนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือจะยื่นคําขอใหม่ก็ได้ แต่ในกรณีที่กฎหมายกําหนดให้ต้องยื่นคําขอใดภายในระยะเวลาที่กําหนดผู้ยื่นคําขอจะต้องยื่นคําขอนั้นใหม่ภายในระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา ๑๐ ผู้อนุญาตต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ และแจ้งให้ผู้ยื่นคําขอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ
เมื่อครบกําหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ แล้ว หากผู้อนุญาตยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคําขอทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้าทุกเจ็ดวันจนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ พร้อมทั้งส่งสําเนาการแจ้งดังกล่าวให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการทราบทุกครั้งในกรณีที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเห็นว่าความล่าช้านั้นเกินสมควรแก่เหตุหรือเกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของผู้อนุญาต ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานนั้น
ในกรณีไม่แจ้งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าผู้อนุญาตกระทําการหรือละเว้นกระทําการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เว้นแต่จะเป็นเพราะมีเหตุสุดวิสัย
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใดออกใช้บังคับและมีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือรายละเอียดอื่นใดที่ปรากฏในคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้น มิให้ใช้บังคับกับการยื่นคําขอที่ได้ยื่นไว้แล้วโดยชอบก่อนวันที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เว้นแต่กฎหมายนั้นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแต่สําหรับในกรณีกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ยื่นคําขอ
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่กฎหมายกําหนดอายุใบอนุญาตไว้ และกิจการหรือการดําเนินการที่ได้รับใบอนุญาตนั้นมีลักษณะเป็นกิจการหรือการดําเนินการที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะประกอบกิจการหรือดําเนินการนั้นต่อเนื่องกัน คณะรัฐมนตรีจะกําหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชําระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ แทนการยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตก็ได้ และเมื่อหน่วยงานซึ่งมีอํานาจออกใบอนุญาตได้รับค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ให้ออกหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ ผู้รับใบอนุญาตโดยเร็ว และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามกฎหมายนั้น ๆ แล้ว
การกําหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชําระค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้ระบุชื่อพระราชบัญญัติและประเภทของใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ผู้รับใบอนุญาตอาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้ก่อนตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง
ให้คณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวแล้วหากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้มีมติทักท้วง ให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไปให้เป็นหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการดําเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๑๓ ให้เป็นหน้าที่ของผู้อนุญาตที่จะต้องกําหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือการดําเนินกิจการของผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการอนุญาตกําหนดและให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้อนุญาตที่จะต้องตรวจสอบตามหลักเกณฑ์และแนวทางดังกล่าว
เมื่อมีผู้ได้รับความเดือดร้อนรําคาญ หรือเสียหายจากการประกอบกิจการหรือการดําเนินกิจการของผู้ได้รับอนุญาต ไม่ว่าความจะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เองหรือมีผู้ร้องเรียน ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะดําเนินการตรวจสอบและสั่งการตามอํานาจหน้าที่โดยเร็ว
มาตรา ๑๔ ในกรณีจําเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนให้คณะรัฐมนตรีมีมติจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาต เพื่อทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับคําขอตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตขึ้นให้ศูนย์รับคําขออนุญาตตามวรรคหนึ่งมีฐานะเป็นส่วนราชการตามมาตรา ๑๘ วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยอยู่ในสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี และจะให้มีสาขาของศูนย์ประจํากระทรวงหรือประจําจังหวัดด้วยก็ได้การจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้กําหนดรายชื่อกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตที่จะให้อยู่ภายใต้การดําเนินการของศูนย์รับคําขออนุญาตในการดําเนินการเกี่ยวกับการรับคําขอ จะกําหนดในพระราชกฤษฎีกาให้ผู้ยื่นคําขอ ยื่นคําขอผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
มาตรา ๑๕ เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาตตามมาตรา ๑๔ แล้ว ให้ดําเนินการและมีผล ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการอนุญาตหรือกฎที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวกําหนดให้ต้องยื่นคําขอ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียมใด ณ สถานที่ใด ถ้าได้มีการยื่นคําขอ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียม ณ ศูนย์รับคําขออนุญาตแล้ว ให้ถือว่าได้มีการยื่นคําขอ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียมโดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตนั้นแล้ว
(๒) บรรดาเงินค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ศูนย์รับคําขออนุญาตได้รับไว้ตาม (๑) ให้ศูนย์รับคําขออนุญาตนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินในนามของหน่วยงานของผู้อนุญาต หรือส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี และแจ้งให้หน่วยงานของผู้อนุญาตทราบ
(๓) ในกรณีที่หน่วยงานของผู้อนุญาตมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่จะต้องนําส่งคลัง ให้ศูนย์รับคําขออนุญาตหักเงินดังกล่าวแทนและส่งมอบเงินที่หักไว้นั้นให้แก่หน่วยงานของผู้อนุญาต โดยให้ศูนย์รับคําขออนุญาตมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายของศูนย์รับคําขออนุญาตตามอัตราที่จะได้ตกลงกับหน่วยงานของผู้อนุญาต
(๔) ระยะเวลาตามมาตรา ๑๐ ให้นับแต่วันที่ศูนย์รับคําขออนุญาตส่งเรื่องให้ผู้อนุญาตโดยศูนย์รับคําขออนุญาตจะต้องส่งเรื่องให้ผู้อนุญาตไม่ช้ากว่าสามวันทําการและให้นํามาตรา ๑๐ วรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๕) ให้เป็นหน้าที่ของผู้อนุญาตที่จะต้องส่งคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันให้ศูนย์รับคําขออนุญาตตามจํานวนที่จําเป็น และดําเนินการให้มีการฝึกอบรมหรือชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์รับคําขออนุญาต เพื่อให้เกิดความชํานาญในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
(๖) ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศูนย์รับคําขออนุญาตที่จะต้องดําเนินการตามมาตรา ๘ และต้องรับผิดชอบในฐานะเช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๑๖ ให้ศูนย์รับคําขออนุญาตมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับคําขอและค่าธรรมเนียม รวมตลอดทั้งคําอุทธรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต
(๒) ให้ข้อมูล ชี้แจง และแนะนําผู้ยื่นคําขอหรือประชาชนให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต รวมตลอดทั้งความจําเป็นในการยื่นคําขออื่นใดที่จําเป็นต้องดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตทั้งปวง ในการประกอบกิจการหรือดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
(๓) ส่งคําขอ หรือคําอุทธรณ์ ที่ได้รับจากผู้ยื่นคําขอหรือผู้ยื่นคําอุทธรณ์พร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคอยติดตามเร่งรัดหน่วยงานดังกล่าวเพื่อดําเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนดตามพระราชบัญญัตินี้ และคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ หรือตามกฎหมายที่ให้สิทธิในการอุทธรณ์
(๔) ในกรณีที่เห็นว่าหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการยื่นคําขอ มีรายละเอียดหรือกําหนดให้ต้องส่งเอกสารที่ไม่จําเป็น หรือเป็นภาระเกินสมควรแก่ประชาชน ให้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
(๕) รวบรวมปัญหาและอุปสรรคจากการอนุญาตและการดําเนินการของ ศูนย์รับคําขออนุญาต เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
(๖) เสนอแนะในการพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลา เกี่ยวกับการอนุญาตต่างๆ รวมถึงข้อเสนอในการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือกําหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการอนุญาตเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น
มาตรา ๑๗ ให้ผู้อนุญาตจัดทําคู่มือสําหรับประชาชนตามมาตรา ๗ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา https://psdg-obec.nma6.go.th/web/452