พรฎ. หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หลักเกณฑ์หมวด 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
หลักเกณฑ์วิธีการและกรอบแนวทางดำเนินงาน ตาม พรฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มี 9 หมวด 53 มาตรา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และกรอบแนวทางการดำเนินการไว้ดังนี้คือ
หมวด 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐบัญญัติไว้ ในมาตรา 9 – 19 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้อง เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับภารกิจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้นไว้สำหรับงานนั้น โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีความคุ้มค่ากับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดตัวชี้วัดผลการทำงานได้อย่างชัดเจน ให้ส่วนราชการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1) การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ก่อนจะดำเนินการตามภารกิจใด ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการไว้ล่วงหน้า โดยแผนปฏิบัติราชการจะกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนของแผน กำหนดระยะเวลาและงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินการของแต่ละขั้นตอน กำหนดเป้าหมายของภารกิจ ผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ ตลอดจนตัวชี้วัดความสำเร็จของภารกิจ และจะต้องจัดให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนดโดยสอดคล้องกับมาตรฐานของ ก.พ.ร.
ในกรณีที่การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติราชการเกิดผลกระทบต่อประชาชน ให้ส่วนราชการดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบหรือเปลี่ยนแผนปฏิบัติราชการให้เหมาะสม
2) การบริหารราชการแบบบูรณาการ ในการบริหารราชการอาจจะมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการหลายๆ ส่วนหรือมีภารกิจที่ใกล้เคียงหรือต่อเนื่องกัน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
การบริหารราชการแบบบูรณการมีทั้งในระดับจังหวัดและในต่างประเทศ ในระดับจังหวัดให้ส่วนราชการมีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติราชการของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในต่างประเทศให้ส่วนราชการมีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติราชการของ หัวหน้าคณะผู้แทนในต่างประเทศ เช่น เอกอัครราชทูต เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบบูรณาการ สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้อย่างครบถ้วน ตามความจำเป็นและบริหารราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) องค์การแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ ให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน
4) การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติราชการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จะกำหนดมาตรการกำกับการปฏิบัติราชการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยวิธีการจัดทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวิธีการอื่นใด เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
5) การจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติราชการ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ร่วมกันจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
แผนการบริหารราชการแผ่นดินให้จัดทำเป็นแผนสี่ปี โดยนำนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภามาพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน ส่วนราชการหรือบุคคลที่จะรับผิดชอบในแต่ละภารกิจ ประมาณการรายได้และรายจ่ายและทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการและการติดตามประเมินผล
6) การจัดทำแผนนิติบัญญัติ เมื่อมีการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
7) การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ เมื่อมีการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินโดยจัดทำเป็นแผนสี่ปี ในแต่ละปีงบประมาณให้จัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน รวมทั้งประมาณการรายได้และรายจ่ายและทรัพยากรอื่นๆเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการ ให้สำนักงบประมาณดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จในแต่ละภารกิจตามแผนปฏิบัติราชการ สำนักงบประมาณจะไม่จัดสรรงบประมาณสำหรับภารกิจที่ส่วนราชการไม่ได้เสนอแผนปฏิบัติราชการ หรือภารกิจที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
เมื่อสิ้นปีงบประมาณให้ส่วนราชการจัดทำรายงาน แสดงผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติราชการประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
สำนักงบประมาณและคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จะร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการ และเมื่อมีการกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามแผนปฏิบัติราชการแล้ว การโอนงบประมาณจากภารกิจหนึ่งที่ได้กำหนดในแผนปฏิบัติราชการไปดำเนินการในภารกิจอย่างอื่น ซึ่งมีผลทำให้ภารกิจเดิมไม่บรรลุเป้าหมายหรือนำไปใช้ในภารกิจใหม่ที่มิได้กำหนดในแผนปฏิบัติราชการ จะต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ปรับแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกัน โดยการปรับแผนปฏิบัติราชการจะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ภารกิจไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้ หรือหมดความจำเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ หรือหากดำเนินการต่อไปจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น หรือมีความจำเป็นอย่างอื่นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของแผนปฏิบัติราชการ
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับแผนปฏิบัติราชการแล้ว ให้ดำเนินการแก้ไขแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกันด้วย
เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้หัวหน้าส่วนราชการ สรุปผลการปฏิบัติราชการต่อ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อ นายกรัฐมนตรี คนใหม่จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนด นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
.
ที่มาข้อมูล
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวเพิ่มเติมคลิกที่นี่
พรฎ. หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี-------------------------------------------------