แนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานของรัฐ (Implementation guidelines for government agencies)
ที่มาข้อมูล สานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การดำเนินงานสำหรับหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ สามารถแบ่งการดำเนินการออกได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้
1 การเตรียมการก่อนเริ่มการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
1.1 หัวหน้าส่วนราชการ ระดับกระทรวง หรือระดับกรม กำหนดนโยบายการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ โดยกำหนดรูปแบบและรายละเอียดการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ อย่างน้อย ดังนี้
• รูปแบบ และแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ที่เหมาะสมกับหน่วยงาน
• ลักษณะงานของหน่วยงานที่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้ทั้งหมด หรือบางส่วน และลักษณะงานที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้
• แนวทางการคัดเลือกผู้ปฏิบัติราชการนอกสถานที่
• แนวทางการกำกับและติดตามการปฏิบัติงาน
• แนวทางการยุติการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
• แนวทางจริยธรรมในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
1.2 หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี และระบบการรักษาความปลอดภัย รองรับการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และบริการอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ปฏิบัติราชการนอกสถานที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งควรจัดให้มีการฝึกอบรมการใช้ระบบเทคโนโลยีและช่องทางดิจิทัลที่จำเป็น
1.3 มอบหมายส่วนงานภายในที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายบุคลากร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น รับผิดชอบในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
2. การดำเนินการช่วงการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
2.1 ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นคัดเลือกข้าราชการ หรือบุคลากรของรัฐที่จะปฏิบัติราชการนอกสถานที่โดยอาจใช้วิธีการรับสมัครตามความสมัครใจ หรือการมอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ตามเหตุผลความจำเป็น เช่น กรณีเกิดโรคระบาด หรือกรณีที่มีเหตุให้ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานได้ เป็นต้น โดยคำนึงถึงลักษณะงานที่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้
2.2 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ตกลงเป้าหมายการปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ไม่ได้เข้ามาปฏิบัติราชการ ณ สำนักงาน ร่วมกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้น โดยระบุเป็นผลสำเร็จของงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยจัดทำในรูปแบบของข้อตกลงการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ทั้งนี้อาจเป็นเป้าหมายที่ตัดทอนมาจากข้อตกลงการปฏิบัติราชการของข้าราชการในแต่ละรอบการประเมิน
2.3 ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หรือผู้บังคับบัญชาลำดับสูงขึ้นไปของข้าราชการ หรือบุคลากรภาครัฐที่จะปฏิบัติงานนอกสถานที่ เป็นผู้เสนอหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาสั่งให้ข้าราชการ หรือบุคลากรภาครัฐ ที่ได้รับการคัดเลือกปฏิบัติราชการนอกสถานที่ พร้อมทั้งระบุเป้าหมายของงานที่จะปฏิบัติในช่วงเวลาที่ไม่ได้เข้ามาปฏิบัติราชการ ณ สำนักงาน
2.4 ในช่วงระหว่างการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ จะเป็นผู้กำกับและติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และผู้ปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติงานอย่างมีความรับผิดชอบ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นทราบเป็นระยะ โดยการกำกับและติดตามการปฏิบัติงานอาจดำเนินการโดยผ่านระบบหรือช่องทางดิจิทัล
2.5 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือฝ่ายเทคนิค จัดให้มีช่องทางในการให้คำแนะนำ ปรึกษา และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการใช้งานระบบเทคโนโลยีและช่องดิจิทัล สนับสนุนการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
2.6 ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หรือผู้บังคับบัญชาลำดับสูงขึ้น พบว่าผู้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ไม่รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามข้อตกลงการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ หรือไม่ปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ให้เสนอหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณายุติการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ของผู้ปฏิบัติงาน
3. การดำเนินการภายหลังสิ้นสุดการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
1) ผู้ปฏิบัติงานนอกสถานที่รายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้น
2) ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามข้อตกลงการปฏิบัติราชการนอกสถานที่พร้อมทั้งรายงานผลสำเร็จของงานต่อหัวหน้าส่วนราชการ
3) ประเมินผลการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ในภาพรวมของหน่วยงาน ทั้งในมิติประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานของหน่วยงาน และมิติความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งถอดบทเรียนการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
แนวทางจริยธรรมในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่
ข้าราชการ หรือบุคลากรภาครัฐ ที่ปฏิบัติราชการนอกสถานที่ พึงปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ดังนี้
• ปฏิบัติราชการด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบ และประโยชน์ของทางราชการ ด้วยความรอบคอบ รวดเร็วทันเวลา และมีคุณภาพ
• มีความรับผิดชอบ มีวินัย และบริหารเวลา อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
• ให้ความสำคัญกับสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ ตรงต่อเวลา พร้อมยอมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประสานประโยชน์ของงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
• ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ร่วมงานทั้งที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ และที่ปฏิบัติงาน ณ สำนักงาน ด้วย ความเสียสละ ความเอื้ออาทร และความเข้าใจ โดยไม่ถือว่าการปฏิบัติราชการนอกสถานที่เป็นอภิสิทธิ์
• ใช้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการในทางที่เป็นประโยชน์ ถูกต้อง ดูแลข้อมูลข่าวสาร อย่างระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการต่อบุคคลอื่น หรือในพื้นที่สาธารณะ
• มุ่งมั่นพัฒนาตนเองใฝ่หาความรู้ พัฒนาทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติงาน ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และพร้อมปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
ที่มา https://www.onde.go.th
ที่มาข้อมูลภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
ดูข้อมูลเพิ่มเติมคลิกตามลิงค์ที่สนใจ
พรบ.รัฐบาลดิจิทัล 2562 การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 รวมข้อมูล
-------------------------------------------------