Lertsin 053 บทสุดท้ายของ "37 ปี ที่อยู่กับหิน"
Lertsin 053 บทสุดท้ายของ "37 ปี ที่อยู่กับหิน"
เมื่อเกษียณมาใหม่ๆ เพื่อนสมัยเรียนมัธยมศึกษา ชักชวนให้เขียนบทความลงในนิตยสาร "ใกล้เมรุ" ที่เขาคิดจะทำขึ้นมา โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งรวบรวมผลงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชีวิต ได้เล่าประสบการณ์การทำงานให้อนุชนคนรุ่นหลังฟัง ก่อนที่ตัวเองจะไปเฝ้ามองความสำเร็จของลูกหลานอยู่บนทางช้างเผือก เห็นว่าน่าสนใจจึงได้เริ่มเขียนโดยอาศัยความทรงจำเมื่อครั้งอดีตอย่างเดียว ไม่มีเอกสารอ้างอิงและภาพประกอบเรื่องแต่อย่างใด เขียนตุนไว้ได้ไม่กี่ตอน เขาบอกยกเลิกโครงการทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้น
ต้นปี พ.ศ. 2563 โรคโควิด 19 ได้เข้ามาแพร่ระบาดในเมืองไทย โปรแกรมท่องเที่ยวต่างๆ โดนระงับหมด เริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น เพื่อนในไลน์กลุ่ม great science ซึ่งสมาชิกเป็นน้องใหม่ ของ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อ 50 ปีก่อน ได้ชวนให้เขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับที่ได้พบเห็นในขณะสำรวจธรณีวิทยาอยู่ในป่าในเขา คงไม่ต้องแปลกใจหรอกที่ นิสิตวิทยาศาสตร์ จะเป็นชาว "มูเตลู" เพราะเรื่องแบบนี้ อยู่ใต้จิตสำนึกของคนไทยค่อนประเทศ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องสั้นชุด " 37 ปี ที่อยู่กับหิน"
37 ปี ที่ทำงานใน กรมทรัพยากรธรณี ได้ตระเวณไปสำรวจธรณีวิทยา ครบทั้ง 76 จังหวัด และ 2 เขตปกครองพิเศษ ได้พบเห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรณีบนผืนแผ่นดินไทย เรามีแร่ธาตุมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค แร่ดีบุก เคยทำรายได้ให้ประเทศมากมายมหาศาล แม้ว่าปัจจุบันการทำเหมืองแร่ดีบุกได้จบลงไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแร่ดีบุกได้หมดไปจากเมืองไทย แหล่งดีบุกขนาดใหญ่ยังรอการค้นพบ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมและคนในประเทศเห็นความสำคัญ
สภาพธรณีวิทยาปิโตรเลียม บ่งชี้ว่า น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สามารถพบได้ทั้งบนบกและอ่าวไทย แม้จะเป็นแหล่งขนาดเล็กเทียบไม่ได้กับที่พบในตะวันออกกลาง และผลิตได้เพียง 30% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่ก็ช่วยประหยัดเงินที่เราต้องซื้อจากต่างประเทศได้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย
แหล่งแร่ทองคำ มีการค้นพบและผลิตโดยชาวบ้านท้องถิ่นมานานแสนนาน เช่น แหล่งทองคำบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งทองคำเขาโต๊ะโม๊ะ อำเภอสุคีริน จังหวัดยะลา แหล่งทองคำกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันเรามี เหมืองทองคำ ขนาดใหญ่อยู่ที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก สภาพธรณีวิทยาแหล่งแร่แอบกระซิบบอกมาว่า แหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่สมบัติล้ำค่าใต้ดิน รอให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นพบ
ประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง มีภูมิประเทศที่สวยงามที่ชักจูงให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาชื่นชม มีภูมิอากาศที่ไม่สุดโต่งจนเกินไป ที่สำคัญมีภัยธรรมชาติมีน้อยมาก พายุโซนร้อนที่รุนแรง ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกปีละไม่น้อยกว่า 20 ลูก แต่หลุดเข้าไทยเพียงไม่เกิน 3 ลูก แค่นี้เราก็รู้สึกย่ำแย่ ลองนึกถึงประเทศที่ต้องเผชิญกับพายุตลอดเวลา เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด
โลกเปรียบเสมือนไข่ต้ม เปลือกไข่ คือ แผ่นเปลือกโลก ไข่ขาว คือ เนื้อโลก ส่วนไข่แดง คือแก่นโลก เพิ่มเติม คือ แก่นโลกแบ่งเป็น 2 ชั้น แก่นโลกชั้นนอกมีลักษณะเป็นของหนืดเทียบได้กับไข่แดงที่ต้มแบบยางมะตูม ส่วนแก่นโลกชั้นในเป็นก้อนกลมของโลหะเหล็กผสมนิกเกิล เมื่อโลกหมุนรอบตัวเอง แก่นโลกเลยทำตัวเหมือนไดนาโม ก่อให้เกิดไฟฟ้า และสนามแม่เหล็กห่อหุ้มโลกไว้ แผ่นเปลือกโลกไม่ได้มีแผ่นเดียว มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง เหมือนไข่ต้มโดนทุบเตรียมปอกเปลือก แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา บริเวณที่เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก จะเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด บ่อยมาก
นักธรณีวิทยาเชื่อว่า ประเทศไทยเกิดจากการชนกันของ 2 แผ่นเปลือกโลกขนาดเล็ก ด้านตะวันตก เรียกว่า จุลทวีปฉาน-ไทย ด้านตะวันออก เรียกว่า จุลทวีปอินโดจีน การชนกันเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 220 ล้านปีมาแล้ว จึงมีภูเขาไฟที่ดับแล้วโผล่ให้เห็นตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีหลักฐานของแผ่นดินไหวขนาดใหญในอดีตหลายแห่ง ปัจจุบันประเทศไทยเคลื่อนตัวออกห่างจากรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก จึงไม่มีภูเขาไฟที่พ่นเถ้าถ่านให้เห็น ไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มีเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น
"เมืองไทยใหญ่อุดมดินดีสมเป็นนาสวน" บทกลอนที่เราท่องจำกันมานานแสนนาน แต่ก็สะท้อนความเป็นจริงอย่างมาก บรรพบุรุษไทยได้เลือกสรรพื้นที่นี้ให้พวกเราได้อยู่อาศัยทำมาหากินอย่างมีความสุขเสมอมา เพื่อปลูกฝังให้คนไทยรักชาติ หวงแหนแผ่นดนเกิดของตัวเอง จึงได้เปรียบเทียบรูปลักษณ์ของแผ่นดินไทยดัง เช่น "ขวานทอง" เพื่อไว้ต่อสู้กับศัตรูแผ่นดิน
ปัจจุบัน สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การล่าอาณานิคมโดยการใช้อาวุธมาไล่รบราฆ่าฟันมีน้อยลง แต่จะใช้อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจมากลืนกินประเทศ ถ้าเรายังจะใช้ขวานทองไปสู้รบปรบมือเพื่อปกป้องดินแดนคงไม่ไหวแน่ อยากให้พวกเราเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ สำหรับผม มองเมืองไทย ดังเช่น ดอกไม้ ที่ น่ารัก น่าทะนุถนอม น่าหวงแหน ขอเชิญชวนพวกเรามาร่วมกันปกป้อง "ดอกสยาม" ให้เจริญรุ่งเรืองตราบชั่วนิรันดร์
เรื่องสั้นชุด "37 ปี ที่อยู่กับหิน" มีจุดเริ่มต้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โรคโควิด 19 จะถูกลดระดับจากโรคติดต่อร้ายแรงลงมาเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ผมถือโอกาสนี้ขอจบเรื่องสั้นชุด "37 ปีที่อยู่กับหิน" เช่นกัน
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
22 กันยายน 2565
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------