กำแพงหินยักษ์ อาณาจักรโคดตะบอง ท่าแขก สปป. ลาว
กำแพงหินยักษ์ อาณาจักรโคดตะบอง ท่าแขก สปป. ลาว สิ่งที่เรียกกันว่ากำแพงหินยักษ์นั้น ตั้งอยู่ข้างถนนหมายเลข 13 ใต้ อยู่ห่างจากเมืองท่าแขกไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร มีตำนานเล่าขานว่านี่คือกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ของอาณาจักรโคดตะบอง ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งในอินโดจีน ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับแหลมญวน มีพื้นที่ 600,000 ตารางกิโลเมตร มีอำนาจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-7
ในมุมมองของนักธรณีวิทยาแล้ว กำแพงยักษ์นี้ที่แท้ก็คือ หินโผล่ (outcrops) ของหินทรายปนกรวดของหมวดหินที่ฝั่งไทยเรียกว่า หมวดหินภูพาน เพียงแต่ว่าชั้นหินที่ว่านี้ วางตัวตั้งฉากกับพื้นดิน ส่วนที่พุ่งสูงขึ้นสู่ท้องฟ้ามากเกินก็หายไปตามกฏของการกัดกร่อนผุพังทำลาย เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นรอยแตกของหินที่มีทิศทางค่อนข้างจะขนานกับผิวดิน ต่อเนื่องยาวไปตลอดสิ่งที่เรียกว่ากำแพง ทำให้ผู้คนจำนวนมากเมื่อมองดูแล้วคิดว่ามีคนเอาหินมาวางซ้อนกัน หนามากบ้างน้อยบ้าง ถึงกับมีการทึกทักว่า นี่คือกำแพงยักษ์ที่ชาวโคดตะบองสร้างขึ้นล้อมรอบตัวเมืองของพวกเขา
ว่าอันที่จริงแล้ว รอยแตกขนานกันนี้คือสิ่งที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า รอยแยกแบบมีระบบ (joint) ซึ่งเกิดขึ้นในชั้นหินเนื่องจาก 2 สาเหตุคือ ถูกแรงบีบอัดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งในกรณีนี้ รอยแยกจะแตกสองแนว มองเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน(tectonic joints) แต่รอยแยกที่นี่กลับเห็นเป็นแนวขนานกัน และมีอีกหนึ่งแนวที่ตั้งฉากกัน แต่ไม่เด่นชัดนัก ซึ่งเป็นรอยแยกที่เกิดจากการบีบอัดด้านบนลดลงเนื่องจากการชั้นหินด้านบนถูกกัดเซาะหายไป (unloading joints / relase joints) จากหลักฐานทางธรณีวิทยาทั้งหมดจึงเชื่อว่า ชั้นหินแห่งนี้เคยถูกยกตัวขึ้นมาก่อน แล้เกิดรอยแยกแบบที่สองดังกล่าว จากนั้นจึงถูกอิทธิพลของรอยเลื่อน ท่าอุเทน - เซโปน (Tha Uten-Xepon Fault) ทำให้ชั้นหินบิดตัวตั้งฉาก
หากสำรวจให้รอบด้านและถ้วนถี่แล้วจะพบว่า กำแพงหินยักษ์นี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของแนวเนินและภูเขาที่วาวตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากภูเขาในเมืองบอลิคัน แขวงบอลิคำไซ ต่อเนื่องลงมาถึงภูกระดิ่ง และสายภูงูในเขตท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งชั้นหินของภูเขาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่วางตัวในแนวตั้งฉากกับพื้นดินเกือบทั้งหมด (จากอิทธิพลของรอยเลื่อนที่กล่าวมาแล้ว)
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่าชั้นหินที่นี่วางตัวในแนวดิ่งก็คือ ชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) ซึ่งก็คือการวางตัวของเม็ดทรายที่เกิดจากการไหลของแม่น้ำ ตรวจสอบแล้วสามารถกล่าวได้ว่า หินทรายเหล่านี้เกิดการสะสมตัวของแม่น้ำประสานสาย (braided stream) ที่ไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อประมาณ 140 ล้านปีมาแล้ว เม็ดกรวดที่พบในชั้นหินที่นี่ มีขนาดใหญ่สุดถึงประมาณ 5 เซนติเมตร และประกอบด้วยกรวดของหิน อัคนี หินแปร และหินตะกอน นอกเหนือจากหินเชิร์ต และควอร์ต ที่พบในเขตอีสานบ้านเฮา ขนาดและชนิดของกรวดที่พบจึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า แม่น้ำโบราณสายนี้ไหลมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เรื่องราวทั้งเบิ๊ดก็เป็นจั่งสั้นแล้ว อ้ายสารวัตร
.
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------