ธรณีวิทยาใน อุทยานธรณีดงวาน (Dong Van Karst Plateau Geopark: DVKP Geopark)
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
ธรณีวิทยาในพื้นที่ของอุทยานธรณีดงวาน (Dong Van Karst Plateau Geopark: DVKP Geopark) ของประเทศเวียตนาม มีชุดของชั้นหินทั้งหมด 7 ชุด ได้แก่
1) ตอนกลางของยุคแคมเบรียน-ตอนต้นของยุคออโดวิเซียน
2) ตอนกลางของออโดวิเซียน-ไซชูเรียน
3) ยุคดีโวเนียน-ตอนต้นของคาร์บอนิเฟอรัส
4) ตอนต้นของคาร์บอนิเฟอรัส-ตอนกลางของยุคเพอร์เมียน
5) ยุคเพอร์เมียนตอนปลาย-ไทรแอสสิก
6) ยุคจูแรสสิก-ครีเทเชียส
7)มหายุคซีโนโซอิก
ในส่วนที่เกี่ยวกับโบราณชีววิทยานั้น พบซากบรรพชีวินที่สำคัญทั้งหมด 19 กลุ่ม ได้แก่ สัตว์คล้ายหอยสองฝาไม่เท่ากัน ปะการังกลุ่ม ปะการังเดี่ยว สาหร่ายสโตรมาโทโพรอยด์ ไทรโลไบต์ ปลา ฟอแรมมินิเฟอร่า เท็นทะคูไลต์ โคโนดอนต์ หอยสองฝา หอยฝาเดียว หวยงวงช้าง ไบรโอซัว ไครนอยด์ ออสตราค็อด ครัสเตเชียน พืช และชิติโนซวน
ในด้านที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางธรณีเทคโทนิก บริเวณแห่งนี้ถูกแบ่งโดยรอยเลื่อน มาเลา-ดงวาน-ลุงทัง (Ma Lau-Dong Van- Lung Thang Fault; MDLF) กับแม่น้ำกัม (Song Gam) ทำให้พื้นที่ถูกแยกป็น 3 ส่วน ได้แก่ ซองกัม ซองเฮียน และลุงกู โดยทั้งหมดนี้จะมีการวางตัวเป็นแบบโครงสร้างรูปประทุนหงายโดยรวม (DVKP Synclinorium) นั่นคือมีชั้นหินอายุแก่ (แคมเบรียน) อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (โซนลุงกู) และตะวันตกเฉียงใต้ (โซนซองกัม) ชั้นหินทั้งหมดเอียงเทลงไปวางตัวอยู่ข้างของชั้นหินที่มีอายุอ่อน (ไทรแอสสิก) ที่วางตัวอยู่ตรงกลาง(โซนซองเฮียน) ว่าอันที่จริงแล้ว โครงสร้างที่กล่าวมานี้ก็คือการต่อเนื่องลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของโครงสร้างรูปประทุนหงายโดยรวมยูนนาน-กวางสี (Yunnan-Guangxi Synclinorium) นั่นเอง
หินส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่นี้คือหินปูน ซึ่งเกิดสะสมตัวในทะเลตื้นยาวนานกว่า 200 ล้านปี มีความหนาร่วม2 กิโลเมตร และได้ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยามามากมาย ทั้งในด้านการกลายเป็นหิน การถูกยกตัวขึ้นมา และการถูกกัดเซาะผุพังทำลาย จนทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศที่กลายมาเป็นชื่อของอุทยาน
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------