หุบเหวนรก กับบ่อน้ำร้อนโอยุนุมะ (Oyunuma pond) ฮอกไกโด ญี่ปุ่น
วันที่ 15 ตุลาคม 2562 นี้ การท่องฮอกไกโด ของคณะทัศนศึกษาของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จะแวะไปเยือนแหล่งน้ำพุร้อนโนโบริเบ็ตสึ ที่ตีนภูเขาไฟกัตตาระ (Kuttara Volcano) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 80-45,000 ปีก่อน จากนั้นก็มีการระเบิดอีกเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 6,450 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงปี 1663
สถานที่ที่เรียกว่าหุบเหวนรกนั้นมีหลายแห่งในญี่ปุ่น แต่ว่ากันว่า ที่สวยที่สุดก็คือที่นี่ หุบเหวนรกจิโงกุดานิ (Jigokudani Hell Valley) หุบเขาหินที่รกร้าง มีน้ำพุร้อน พุโคลน ที่ระอุไปด้วยกลิ่นกำมะถัน
บ่อน้ำร้อนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่นี่ก็คือ บ่อน้ำร้อน อ้อยอั๋นอุมา (Oyunuma) มีลักษณะเป็นบ่อรูปไข่ ซึ่งจริงๆแล้วก็คือทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟของภูเขาไฟฮิโยริ (Hiyoriyama) มีเส้นรอบวงประมาณหนึ่งกิโลเมตร น้ำลึกสุด 22 เมตร ในอดีตเคยมีการนำกำมะถันจากที่นี่ไปทำดินปืนในปัจจุบันนี้กำมะถันก็ยังถูกขับพวยพุ่งขึ้นมากับไอน้ำร้อน 120 องศาเซลเซียส ทว่าอุณหภูมิที่ผิวน้ำจะแค่ 40-50 องศาเท่านั้น โคลนสีดำที่เห็นตามขอบบ่อก็คือโคลนที่มีก้อนแร่ไพไรต์ขนาดเล็กปนอยู่นั่นเอง
จุดศึกษาต่อไปซึ่งข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงจัดให้มาอยู่ในวันนี้ก็คือ ภูเขาไฟโชวะซินซัง (Showa Shinzan) สูง 398 เมตร (ตามชื่อแปลว่า ภูเขาใหม่ที่เกิดในสมัยโชวะ) ถือได้ว่านี่คือภูเขาไฟที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น จัดเป็นภูเขาไฟชนิดลาวาโดม เกิดขึ้นจากการระเบิดระหว่างปี 1943-45 โดยมีผู้บันทึกรายละเอียดไว้ว่า มี 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ก่อนการระเบิด (28 ธันวาคม1943 - 22 มิถุนายน1944)
เกิดแผ่นดินไหวซึ่งบางวันมากกว่า 200 ครั้ง โดยมีจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว (hypocenter) อยู่ใต้ทะเลสาบโทย่า จากนั้นจึงเลื่อนมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน เกิดการปูดนูนขึ้นมาของแผ่นดิน เฉพาะในวันที่ 22 มิถุนายนวันเดียวนั้น สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 150 เซนติเมตร
ระยะที่ 2 ระยะระเบิด (23 มิถุนายน1944 - 31 ตุลาคม1944)
เช้าของวันที่ 23 มิถุนายน เริ่มจากการมีควันลอยขึ้นมาก่อน ตามมาด้วยการระเบิด ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในวันที่ 7 กรกฎาคม การระเบิดครั้งใหญ่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าไม้และบ้านเรือน
ระยะที่ 3 หลังการระเบิด (1 พฤศจิกายน 194 - กันยายน 1945)
หลังจากการระเบิด ภูเขาโชวะซินซังก็ก่อรูปร่างให้เห็นชัดยิ่งขึ้น แม้จะไม่มีการระเบิดแล้ว แต่ก็ยังคงมีควันลอยออกมาตลอดเวลา แม้แต่ในปัจจุบันนี้
ข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่ลูกทัวร์พึงทราบก็มีเพียงเท่านี้แหละครับ ท่านสารวัตร ต่อจากนี้ พี่ลุงเสือใหญ่ก็จะทุ่มเทความใส่ใจทั้งหมดไปที่พิพิธภัณฑ์เบียร์ซับโปโร เพื่อตรวจสอบสารประกอบ ไฮโดรคาร์บอนอ็อกซิเดทว่าจะกลมกล่อมหอมจรุงจิตเช่นไรบ้าง
.
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------