เสาหินปอมเปอี (Pompeii’s Pillar) แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์
เสาหินปอมเปอี ผู้ยืนหยัดท้าทายน้ำมือมนุษย์และพระแม่ธรณี
เสาหินปอมเปอี (Pompeii’s Pillar) แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์ ตั้งอยู่บนเนินเขา Serapeum ซึ่งดูสายตาเปล่าๆ แล้วเชื่อว่าประกอบขึ้นด้วยหินมาร์ลไม่แสดงชั้น เนื้อหินในปัจจุบันมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีมาก แต่ก็ยังแข็งแรงตั้งมั่นในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ทางด้านเหนือของเนินเขานี้ มองเห็นแนวระนาบเลื่อนปกติ (Normal fault) โดยหินที่อยู่ด้านเหนือจะเคลื่อนตัวลงต่ำ แนวเลื่อนนี้ ยังต่อเนื่องขึ้นไปถึงชั้นหินที่ก่อวางทับบนยอดเนินหิน ซึ่งคงจะถูกปรับให้เป็นแนวระนาบ จนทำให้กำแพงยุบตัวออกจากกันประมาณ 10 เซนติเมตร ไม่แน่ใจว่าระนาบเลื่อนนี้จะเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 ครั้งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ จนเป็นผลให้ประภาคารแห่งอเล็กซานเดรีย ที่เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่า ที่อยู่ถัดไปทางเหนืออีกประมาณ 4 กิโลเมตร พังทลายพินาศลงสิ้น
จากหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า บนเนินเขานี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของวิหาร Serapeum ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของชาวโรมัน เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช สิ่งก่อสร้างนอกตัวอาคารประกอบด้วย เสาหินปอมเปอี ซึ่งเป็นแท่งหินแกรนิตกลม 1 แท่ง มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐานหิน 2.71 เมตร ยาว 20.46 เมตร ตั้งวางอยู่บนฐานของแท่งหินแกรนิต กับหินควอร์ตไซต์ และมีแท่งหินแกรนิตไนส์อีกหนึ่งแท่ง รองรับเสาหินดังกล่าว รวมความหนาของตัวฐานจะประมาณ 6 เมตร ทางด้านใต้ของเสาหินมีสฟิงซ์อีกสองตัว ทั้งคู่ต่างก็ถูกสลักมาจากหินแกรนิตเพียงก้อนเดียว
หินแกรนิตที่ใช้ในการแกะสลักนี้ พิสูจน์ได้ว่านำมาจากภูเขาที่เมือง Aswan ที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไปตามแม่น้ำไนล์เป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร หินแกรนิตคือหินที่มีส่วนประกอบของแร่หลัก 3 ตัว ในอัตราส่วนร้อยละดังในภาพประกอบ สำหรับสีแดง หรือชมพูที่เห็นนั้น มาจากผลึกขนาดใหญ่ของแร่อัลคาไลน์เฟลด์สปาร์ ที่กระจายตัวฝังอยู่ทั่วเนื้อหิน
นักโบราณคดียังไม่มั่นใจว่าวิหาร Serapeum ถูกทำลายย่อยยับไปด้วยใคร ระหว่างชนชาวคริสต์ที่ก่อจราจลขึ้นมา หรือว่าเป็นกองทหารโรมัน เมื่อประมาณค.ศ. 391 ในขณะที่ ทั้งเสาหินและสฟิงซ์ยังคงอยู่ยืนหยัดคงทน ปรากฏการณ์ที่โหดร้าย จากทั้งน้ำมือมนุษย์และพระแม่ธรณีมาได้อย่างเหลือเชื่อ จริงอย่างนี้ไหมครับ ท่านสารวัตร
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------