หากท่านเปิดแผนที่ภูมิประเทศของกูเกิ้ลดูบริเวณยอดของภูเพียงบ่อละเวน เมืองปากซองแขวงจำปาสัก ลาวใต้ ท่านน่าจะสังเกตเห็นว่า ภูเพียงบ่อละเวน นั้น มีลักษณะเป็นโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนหงาย มีแกนของประทุนหงายในแนวประมาณตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือกับตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้ (290 องศา) และหากท่านสังเกตให้ละเอียด โดยขยายแผนที่ให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น ท่านก็น่าจะเห็นภูเขาเล็กๆ ได้ง่ายดายและชัดเจน มีลักษณะกลมๆ มากกว่า 10 ลูก แต่ละลูกมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 กิโลเมตร และวางตัวเรียงกันเป็นแนวประมาณ ทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ กับทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ (345 องศา) (ภาพที่1)
โดยทั่วไปแล้วกรวยเถ้าภูเขาไฟจะพบอยู่ตามบริเวณส่วนข้างของภูเขาไฟแบบต่าง ๆ (flanks of volcanoes) ไม่ว่าจะเป็นชนิด ภูเขาไฟรูปโล่ (shield volcanoes) กรวยภูเขาไฟแบบสลับชั้น (stratovolcanoes/ composite volcanoes) หรือ แอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด (calderas) ซึ่งขนาดของโคนนั้น มีได้หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กที่สูงไม่กี่สิบเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่สูงหลายร้อยเมตร ขึ้นอยู่ระดับความรุนแรง และช่วงเวลาความต่อเนื่องการปะทุของหินหนืด ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ปะทุสิ้นสุด ลาวาที่ไหลออกมาในภายหลัง มักจะเจาะทะลุฐานของ ภูเขา แล้วไหลออกสู่ภายนอก มากกว่าที่จะไหลเอ่อออกมาจากด้านบนของโคน และเนื่องจากเนื้อลาวามีความหนาแน่นมากกว่า ดังนั้นจะยกกรวยเถ้าภูเขาไฟซึ่งเบากว่าให้ลอยขึ้น จากนั้นก็จะไหลอาบไปโดยรอบฐานโคนลูกนั้น ๆ
การเกิดโครงสร้างรูปประทุนหงาย และกรวยเถ้าภูเขาไฟนั้น ต่างก็เกิดขึ้นมาพร้อมและหลังการเกิดเทือกเขาหิมาลัย แต่ก็มีประเด็นพิจารณาว่า ทั้งสองสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยกระบวนการทางธรณีวิทยาเช่นไร
โรธนา ลดาชาติ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่ากรวยเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดินผ่านฮอตสปอต คล้ายกับการเกิดของภูเขาไฟที่กลายเป็นหมู่เกาะฮาวาย (ภาพที่ 3) นั่นคือ เกิดจากจุดร้อนใต้เปลือกโลก (Hot spot) ไม่ได้เกิดตามแนวมุดตัวของแผ่นทวีป ไม่ได้เกิดในบริเวณขอบทวีป แต่จะเกิดในใจกลางของแผ่นทวีป ในที่ที่ลึกลงไปในผิวโลก ที่ซึ่งมีการสะสมตัวของแมกมาอย่างมากมายมหาศาล จนทำให้เกิดการประทุของภูเขาไฟ และหากแผ่นธรณีนั้นๆ เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งเดิม แต่จุดร้อนจะยังคงอยู่ ผลก็คือจะได้แนวของภูเขาไฟ ที่มีอายุไล่เรียงกันจากอ่อนไปแก่ นั่นคือมีจุดที่แมกมาเดือดพล่านอยู่กับที่ใต้เปลือกโลก จากนั้นแผ่นทวีปอินโดจีนขยับเคลื่อนที่ ในแนว 345 องศา ทำให้เกิด กรวยเถ้าภูเขาไฟ ในแนวดังกล่าว
สราวุธ จันทรประเสริฐ นักธรณีวิทยาจากบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเบียม เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะการเคลื่อนตัวเฉือนกันของรอยเลื่อนใหญ่ 2 ตัว (วางตัวในแนวประมาณตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้)ทำให้เกิดโครงสร้างรูปประทุน และแนวแตกซึ่งเป็นผลให้มีลาวาและภูเขาไฟประทุขึ้นมาตามแนวนี้ ((ภาพที่ 4) สุคนธ์เมศ จิตมหันต์สกุล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นคล้ายกัน แต่ย้ำว่า ทุกสิ่งที่ปรากฎในตอนยุคเทอร์เชียรีนี้ น่าจะเป็นการเกิดซ้ำ โดยเลียนแบบและตามตำแหน่งเดิมของหินรากฐาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาก่อนในยุคดีโวเนียน หรือเพอร์เมียน
ก็ไม่ได้หวังว่าการขี่ม้าชมดอกไม้ในทริป “เบิ่งลาวใต้กับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย” ครั้งนี้จะได้คำตอบที่แน่ใจว่า ภูเขาไฟเด็กหน้อยบนภูเพียงเกิดขึ้นได้อย่างไร ว่าแต่ว่า ท่านสารวัตรช่วยชี้แนะหน่อยได้ไหมครับ
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------
ภาพที่ 1 ภาพอุลกมณี (tektite) แสดงรูปลักษณะทั้งสองแบบ และการเกิดรูปร่างที่แตกต่างกันไปเนื่องจากการหมุนตัวในอากาศ
ภาพที่ 2 แผนที่แสดงการกระจายตัวของเทคไทต์แต่ละชนิดในเขตเอเซียอาคเนย์ โปรดสังเกตรูปดาวสีดำ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบเทคไทต์ชั้นขนาดใหญ่
ภาพที่ 3 แผนที่แสดงการกระจายตัวของเทคไทต์ทั้งแบบกระเซ็นและแบบชั้น รวมทั้งพื้นที่ที่พบบะซอลต์อายุมหายุคซีโนโซอิกตอนปลาย รวมทั้งตำแหน่งของบ้านโดนงามบุณฑริก และเมืองนอง ที่ปลายลูกศรสีน้ำเงิน
ภาพที่ 4 แผนที่แสดงตำแหน่งหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนโลก(crater)ของอุกกาบาต ที่ได้จากการสำรวจทั้งธรณีวิทยาพื้นผิว(วงเส้นประสีขาว) และการสำรวจวัดค่าแรงโน้มถ่วงของโลก (วงเส้นประสีเหลือง)