Nares ไทย แม่ฮ่องสอน ถกธรณีที่จุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน
ภาพที่ 1 ภาพอาทิตย์อัศดง ถ่ายจากจุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน โปรดสังเกตอาทิตย์ดวงที่สองที่ปรากฏในมือซ้ายของข้าพเจ้าอย่างน่าอัดสะจอรอหันการันยอ
ณ ที่ตำแหน่งที่เรียกว่า “จุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน“ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านบุญเลอ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้น ถ้าท่านมีความรู้ด้านธรณีวิทยาบ้าง ท่านจะยิ่งรู้สึกปิติยินดีกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เริ่มตั้งแต่ตอนอาทิตย์อัศดง (ภาพที่ 1) ท่านจะเห็นดวงตะวันลับเหลี่ยมเขาในดินแดนเมียนมาร์ ภายใต้แสงโพล้เพล้ ท่านอาจสังเกตเห็นแนวปื้นสีขาวของลำน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นช่วงที่ไหลเข้าไปในอาณาเขตของเมียนมาร์ไปแล้ว เมื่อความมืดจองราตรีมาเยือน ทุกด้านก็ล้วนแต่มืดมิด จนกระทั่งเวลาประมาณสี่-ห้าทุ่ม ท่านจะเริ่มเห็นการก่อตัวของหมอกขาวระหว่างหุบเขาสีเทาทะมืน
จนเมื่อแสงทองเริ่มส่องฟ้า สิ่งที่นักท่องเที่ยวและผู้คนชาวกลอเซโลจะเห็นก็คือ “ทะเลหมอกสองแผ่นดิน” (ภาพที่2) ทะเลหมอกนี้ มีรูปร่างคล้ายปาท่องโก๋ที่ถูกบีบอัดปาท่องโก๋ตัวบนด้านซ้ายเกิดคลุมร่องแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในเมียนมาร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวล่างด้านซ้ายคือหมอกที่คลุมหุบเขาของน้ำเมย ปาท่องโก๋ตัวบนด้านขวา คือหมอกที่อ้อยอิ่งอยู่บนลำน้ำสาละวินที่ไหลแบ่งเขตไทยกับเมียนมาร์ ปาท่องโกตัวล่างด้านขวา คือหมอกที่คลุมอยู่บนห้วยที่ไหลในแนวเหนือใต้ ทางทิศตะวันออกของขุนกลอเซโล ด้วยเหตุนี้ บริเวณที่มองเห็นเป็นภูเขาในภาพที่ 2 นี้ ก็จะมี 4 บริเวณได้แก่ ด้านตะวันตก (ด้านบนของภาพ) คือเทือกเขาในประเทศเมียนมาร์ เทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือใต้ 2 ลูก (ตอนกลางของภาพ) ลูกด้านใต้(ด้านซ้ายของภาพ)คือเขาที่อยู่ในเขตเมียนมาร์ มีน้ำเมยไหลอยู่ด้านล่าง(ตะวันออก)ของเขาลูกนี้ ลูกด้านเหนือ (ด้านขวาของภาพ) คือขุนกลอเซโล ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย บริเวณที่ 4 คือจุดที่ตั้งกล้องถ่ายรูป นั่นคือ จุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน
หากท่านไม่รีบร้อนไปไหน รอจนกระทั่งถึงเวลาสายจัด หรือเกือบเที่ยงวัน ฟ้าจะเปิดออก มองเห็นภูเขา หุบเหว และภูมิประเทศที่ชัดเจน ท่านจะสามารถมองเห็นแม่น้ำสาละวินตอนที่อยู่ในเขตเมียนมาร์ (ภาพที่ 3) เห็นร่องน้ำเมย ในช่วงใกล้จะไหลลงสู่สาละวิน และเห็นแนวเส้นตรงที่ลากจากร่องน้ำเมย ขึ้นไปถึงตะวันตกของขุนกลอเซโล (ดูภาพที่ 4 ประกอบ) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าเรียกแนวเส้นตรงนี้ว่า รอยเลื่อนเมย แต่ในสัปดาห์นี้ ข้าพเจ้าขอแก้ไขชื่อของรอยเลื่อนนี้ให้เป็น รอยเลื่อนกลอเซโล (ภาพที่ 5)
เหตุผลแห่งความสับสนนี้ เกิดจากการที่ตัวเองเชื่อมาตลอดว่า รอยเลื่อนเมยนี้ ชื่อที่แท้จริงคือ “รอยเลื่อนแม่ปิง” ที่อาจารย์สงัด พันธุ์โอภาส นักธรณีวิทยารุ่นบุกเบิกของไทย ตั้งชื่อให้ตั้งแต่ปี 2522 โดยจะเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มจากแผ่นดินของเมียนมาร์เข้ามาตามลำน้ำเมย แม่น้ำปิง ผ่านที่ราบภาคกลาง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต่อลงไปในกัมพูชา แล้วต่อลงไปในทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม รอยเลื่อนแม่ปิงนี้เกิดขึ้นมาหลายร้อยล้านปีมาแล้ว โดยตอนแรกเริ่มเกิดเป็นรอยเลื่อนเหลื่อมด้านซ้าย ต่อมาเมื่อประมาณ 30 ล้านปีก่อน กลับกลายเป็รอยเลื่อนเหลื่อมด้านขวา อันเป็นต้นเหตุทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนพิษณุโลก แอ่งสะสมตะกอนพระตะบองในกัมพูชา นอกจากนี้ตอนปลายด้านเหนือของรอยเลื่อนแม่ปิง จะเกิดการแตกปลายเหมือนหางม้า (horse-tail) ทำให้เกิดรอยเลื่อนปกติ เกิดแิ่งสะสมตะกอนแม่สะเรียง และแม่ฮ่องสอน
แต่ทว่า ในปีพ.ศ. 2556 กรมทรัพยากรธรณีได้ตีพิมพ์แผนที่แสดงแนวรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยออกเผยแพร่ กลับเรียกชื่อรอยเลื่อนนี้ว่า รอยเลื่อนเมย (ภาพที่ 5) และรายงานข่าวว่า
เมื่อเช้ามืดของวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.2 ที่ความลึก 1 กิโลเมตร มีศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยเกิดจากการเคลื่อนตัวไปทางขวาของรอยเลื่อนเมย ข้าพเจ้าก็เลยสับสนในการเรียกชื่อรอยเลื่อนในบริเวณนี้ ดังปรากฏข้อความที่น่าเวียนหัวข้างบน
อน่าวไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยสรุปว่า จุดชมวิวทะเลหมอกที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นสวยงามและให้ความสุขแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งหากท่านมีความรู้และความเข้าใจในด้านธรณีวิทยาบ้าง ท่านก็จะยิ่งได้อรรถรสในการเยี่ยมชมอย่างมิรู้ลืมเลือนเลยจริงเจียวครับ พี่น้อง
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
.
ภาพที่ 2 ภาพทะเลหมอก มองจากจุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน เห็นรูปร่างของกลุ่มหมอก คล้ายกับปาทองโก๋ที่ถูกบีบแบน คลอเคลียอยู่ระหว่างภูเขา 4 ลูก คือเทือกเขาใหญ่ในเมียนมาร์(1) เขาที่คั่นกลางน้ำเมยกับน้ำสาละวิน(2) เขาขุนกลอเซโล(3) และจุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน(4)
.
ภาพที่ 3 ภาพถ่ายจากมุมเดิมของสองภาพแรก แต่ถ่ายตอนเวลา 11 นาฬิกา โปรดสังกตปื้นสีขาวของแม่น้ำสาละวินและน้ำเมย
.
ภาพที่ 4 แผนที่แสดงความสูงต่ำของภูมิประเทศบริเวณ กลอเซโล สบเมย แม่ฮ่องสอน โปรดสังเกต แนวของน้ำเมย แม่น้ำสาละวิน และแนวรอยเลื่อนที่ยังมีปัญหาในการเรียกชื่อ
.
ภาพที่ 5 แผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แสดงแนวรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย และตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 (ปลายด้านบนของเส้นตรงสีแดง 18/4/65)