Nares ไทย ขอนแก่น บรรพบุรุษชาวภูเวียงเอาอะไรมาถลุงเหล็ก
รูปประกอบที่ 1 ภาพบนเป็นแผนที่ธรณีวิทยาของอุทยานธรณีขอนแก่น แสดงตำแหน่งหินโผล่ของหมวดหินห้วยหินลาด (พื้นที่ระบายสีม่วงอ่อน หมวดหินน้ำพอง (พื้นที่ระบายสีม่วงเข้ม) และบริเวณที่พบเนินตะกรันเหล็กมากแห่งหนึ่ง (วงกลมสีเหลือง) ภาพล่างเป็นแผนที่กูเกิ้ลแสดงบริเวณที่ ดร. ประดิษฐ์ นูเล พบเนินตะกรันเหล็ก
บทความชิ้นล่าสุดของข้าพเจ้าได้อธิบายความสำคัญและความสัมพันธ์ของพื้นที่ด้านตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่น ในด้านธรณีโครงสร้างไปแล้ว ตอนนี้ก็จะขอเสนอแหล่งมรดกทางธรณีวิทยา ที่สามารถระบุเพิ่มเติมได้อีกหลายจุด อาทิ
จุดที่พบหินกรวดมนที่แกนกลางของโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนภูเวียง ซึ่งในแผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1:250,000 ระวางจังหวัดขอนแก่น ของกรมทรัพยากรธรณี ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2522 ระบุว่าเป็นหมวดหินห้วยหินลาด (พื้นที่ระบายสีม่วงอ่อน ในภาพบนของรูปประกอบที่ 1) ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสกลับเข้าไปตรวจสอบ แต่สงสัยว่า อันที่จริงแล้ว น่าจะเป็นหินกรวดมนของหมวดหินน้ำพองมากกว่า อย่างไรก็ตามหินที่จะพบในบริเวณนี้ สามารถตั้งให้เป็นแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาได้ เพราะนี่คือหลักฐานการเป็นแกนกลางของโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนภูเวียงได้อย่างชัดเจน
จากการตรวจสภาพธรณีวิทยาพื้นผิวในด้านตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่น ในส่วนที่กำหนดให้เป็นหมวดหินน้ำพองนั้น (พื้นที่ระบายสีม่วงเข้ม ในภาพบนของรูปประกอบที่ 1) พบหินทรายของหมวดหินน้ำพองโผล่ให้เห็นทั่วไป ดร. วราวุธ สุธีธร กล่าวว่า เคยพบฟอสซิลกระดูกฝังอยู่ในเนื้อหินหลายแห่ง หากค้นพบอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการเพิ่มแหล่งธรณีวิทยาได้เพิ่มอีกเช่นกัน
ที่สถานีสูบน้ำตำบลนาหว้า อำเภอภูเวียง ได้มีการขุดคลองเพื่อสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ (วงกลมสีเหลืองในภาพบนของรูปประกอบที่ 1) เพื่อระบายน้ำเข้าสู่ไร่นาทางด้านตะวันตกของอ่างน้ำ ทำให้พบเห็นหินปรากฏขึ้นมาตามสองข้างของคลองขุดดังกล่าว ชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออก แต่มีความชันผิดปกติคือเกือบ 30 องศา (ภาพหมายเลข 1 กับ 2 ในรูปประกอบที่ 2) และแล้วข้าพเจ้าก็มาถึงบางอ้อว่า ทำไมชั้นหินบริเวณนี้ ทำไมจึงวางตัวเอียงเทสูง และจำเลยในการณ์นี้ก็คือเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกย่อมๆ ขึ้นมา จากหลักฐานการพบระนาบรอยเลื่อนในหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่ง (ภาพหมายเลข 3 ในรูปประกอบที่ 2)
ดร. ประดิษฐ์ นูเล จากกรมทรัพยากรธรณี ก็ได้สำรวจธรณีวิทยาพื้นผิวของพื้นที่ด้านตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่น ได้พบแหล่งเนินตะกรันเหล็กหลายแห่ง (รูปหยดน้ำสีแดงในภาพล่างของรูปประกอบที่ 1) ในวันที่ข้าพเจ้ากับคณะแวะไปชมนั้น พบแต่เศษกระบื้อง ไม่พบวัตุใดๆ ที่แสดงว่าเป็นเศษชิ้นส่วนของเตาถลุงเลย ซึ่งสมควรที่จะต้องมีการสำรวจศึกษาโดยละเอียดต่อไป
สิ่งที่สะกิดใจข้าพเจ้าก็คือ บรรพบุรุษของชาวภูเวียงเอาสินแร่เหล็กจากไหนมาถลุงที่นี่ รายงานทางธรณีวิทยาเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว เดาว่า วัตถุดิบที่ใช้คงเป็นแร่เหล็กจากลพบุรีหรือเลย ข้าพเจ้าลองค้นหาจากกูเกิ้ล ก็พบรายงานฉบับหนึ่งของนักโบราณคดีชาวญี่ปุ่น จาก มหาวิทยาลัยคาโกชิมา (Eiji Nitta, 1997) ซึ่งศึกษาแหล่งตะกรันเหล็กที่บ้านดงพลอง อำเภอสตึก บุรีรัมย์ ที่แหล่งนี้ มีการค้นพบเตาถลุงด้วย และฟันธงว่า วัตถุดิบที่คนโบราณนำมาใช้ในงานนี้คือ เม็ดรังรูปถั่ว (iron nodules, ironcrete, ferrocrete) เพราะเขาพบเม็ดรังในสภาพกึ่งหลอมเหลวในเตา
ที่น่าดีใจอย่างมากในการแวะเยี่ยมเนินตะกรันเหล็ก (ภาพที่ 1 ของรูปประกอบที่ 3) ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ เราพบก้อนหินศิลาแลงเม็ดถั่ว วางอยู่บนพื้น และพบว่ามีเศษของหินทรายแปะติดอยู่ด้วย แสดงลักษณะให้เห็นว่า ถูกพัดพาให้กลิ้งลงมาตามเนินดินในอดีต แล้วมีเหล็กออกไซด์เชื่อมทุกสิ่งให้กลายเป็นก้อนหินศิลาแลงเม็ดถั่ว (pisolitic laterite) (ภาพที่ 2 ของรูปประกอบที่ 3) ยิ่งไปกว่านั้น ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบเม็ดรังรูปถั่ว วางระเกะระกะบนพื้นดิน (ภาพที่ 3 ของรูปประกอบที่ 3) เม็ดรังเหล่านี้ คงเกิดจากการผุพังสลายมาจากหมวดหินน้ำพอง และวางตัวเรี่ยราดบนพื้น โดยยังไม่เป็นหิน และขอฟันธงว่า ชาวภูเวียงโบราณคงจะกวาดเอาเม็ดรังเหล่านี้มาถลุงเอาเหล็ก มิได้ขุดเอาศิลาแลงจากใต้ดิน ซึ่งจะเป็นศิลาแลงรูหนอน (vermicular laterite) ซึ่งมีดินปนมาก เป็นเหตุให้มีความบริสุทธิ์ต่ำกว่า เม็ดรังรูปถั่ว
น่าดีใจที่บรรพบุรุษชาวภูเวียงสามารถถลุงเหล็ก เพื่อใช้ในการตีเป็นมีด ดาบ หรือหอก แต่น่าเสียดายว่า เหล็กที่ได้น่าจะมีคุณภาพ ความเหนียว ความแกร่ง สู้เหล็กจากภูมิภาคอื่น ที่ถลุงเหล็กมาจากสินแร่เหล็กโดยตรง ท่านสารวัตร เห็นด้วยไหมครับ
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
รูปประกอบที่ 2 ภาพที่ 1 และ 2 แสดงความชันของชั้นหินของหมวดหินน้ำพอง บริเวณใกล้เคียงกับวงกลมสีเหลืองในภาพบนของรูปประกอบที่ 1 ภาพที่ 3 คือระนาบรอยเลื่อนในหินน้ำพอง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า ทำไมชั้นหินของหมวดหินน้ำพองในคลองสูบน้ำนี้ จึงเอียงเทชั้นเกิดสมควร
รูปประกอบที่ 3 ภาพที่ 1 คือเนินตะกรันเหล็ก ที่หลงเหลือจากการถลุงเหล็กของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ภาพที่ 2 หินศิลาแลงเม็ดถั่ว ที่เกิดจากการถูกพัดพาเม็ดรังรูปถั่วและเศษหินทรายเข้ารวมกันจนกลายเป็นหิน ภาพ 3 เม็ดรังรูปถั่ว (iron nodules, ironcrete, ferrocrete) ที่เกิดและวางตัวกระจัดกระจายบนพื้นดิน