Owas เหนือฟ้าลิขิตชีวิตโอวาส จิโนรส วันของนักสู้
เหนือฟ้าลิขิตชีวิต โอวาส จิโนรส
วันของนักสู้
หลังจากนั้นผมได้เดินทางไปทำงานที่อเมริกาบ่อยมาก บางครั้งไปแค่ 3 วัน นั่งเครื่องบิน 2 วัน เพื่อประชุมเพียง 1 วัน แต่ผมก็ไม่เคยบ่นอะไรเพราะผมเป็นคนชอบเดินทาง และจะทำงานอย่างเต็มที่ บางเดือนไม่ได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ขอนแก่นเลย แต่คุณวิลาวรรณก็เข้าใจไม่เคยบ่นว่าอะไร พอดีมีข่าวมาว่าคุณนิวล์-เจ้านาย ซึ่งได้ย้ายกลับไปทำงานที่ เท็กซาโก้ อเมริกา ในตำแหน่ง รองประธาน (Vice President) จะมาเมืองไทย ทุกคนก็เดากันว่าน่าจะมาแต่งตั้ง กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) คนใหม่แทน คุณจอห์นสัน (Mr. Dwight Johnson) ที่ถูกย้ายกลับอเมริกา คุณนิวล์ก็ได้นัดผมไปทานข้าวเย็นกันสองคนที่ห้องอาหาร โรงแรมโอเรียนเต็ล (Oriental Residence) พอทานอาหารและดื่มไวน์กันไปสักพักหนึ่งคุณนิวล์จึงได้เอ่ยปากว่า
“If Texaco select you to be Managing Director, will you accept it?”
“I can't accept it.” ผมตอบอย่างทันทีเพราะคิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่หลังจากดื่มไวน์ไปพอสมควรเริ่มมึนแล้ว เจ้านายยังไม่ละความพยายาม ย้ำคำถามเดิม
“If Texaco select you to be Managing Director, will you accept it?”
“Yes, sir!” ครั้งนี้ผมตอบกลับไปแบบไม่ค่อยจะมีสติ!
“I am waiting to hear this.” พร้อมทั้งยื่นมือมาจับมือผม
พอตอนเช้า คุณนิวล์-เจ้านาย ก็ได้เรียกประชุมพนักงานเท็กซาโก้ทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้ง "นายโอวาส จิโนรส" เป็นกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของ บริษัทเท็กซาโก้ (ไทยแลนด์) พร้อมทั้งแต่งตั้งผมให้เป็น กรรมการบริษัท (Board of Director) ของเท็กซาโก้อีกด้วย ในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ก็ได้ลงข่าวว่า โอวาส จิโนรส เป็นคนไทยคนแรก ที่ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง “MD” หรือ กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของ บริษัทน้ำมันต่างชาติ (International Oil Company) ในประเทศไทย ซึ่งก็ได้เป็นตัวแทนเท็กซาโก้ เข้าประชุมกับ บริษัทคาร์เท็กซ์ Caltex และบริษัทผลิตไฟฟ้า Tri Energy ที่เท็กซาโก้ ร่วมทุนกับ บริษัทบ้านปู ทำให้ผมได้มีโอกาสได้รู้จักผู้จัดการ บริษัทคาลเท็กซ์ ประเทศไทย คือ คุณสุขวิท รังสิตพล เพราะเวลานั้นมีคนไทยเพียงสองคน คำถามแรกที่ท่านถามผม "คุณโอวาส คุณเข้ามาได้อย่างไร!" ผมก็ไม่รู้จะตอบท่านอย่างไร จึงได้แต่เงียบ!
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงข่าวว่า นายโอวาส จิโนรส เป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ในประเทศไทย
บรรยายวิชาการ ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ช่วงนั้นอะไรๆก็ดีขึ้น มีที่ทำงานที่ใหญ่ขึ้น รถยนต์ก็เปลี่ยนจาก BMW เป็น Mercedes-Benz พร้อมคนขับ งานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเท็กซาโก้ (ไทยแลนด์) รวมทั้งกรรมการบริษัทนั้น ต้องทำงานเกือบทุกอย่าง เช่น ดูแลการเจาะสำรวจปิโตรเลียม การจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) ประชุมกรรมการบริษัทผลิตไฟฟ้า Tri Energy ซึ่ง เท็กซาโก้ เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย
ผมมีประสบการณ์จากการจัดซื้อจัดจ้าง ที่อยากจะขอแบ่งปันเพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันว่า ผมได้ถูกเรียกตัวให้เดินทางไปสำนักงานใหญ่ที่อเมริกา เพื่อชี้แจงเรื่องที่ผมเซ็นอนุมัติการจัดจ้างแท่นเจาะ (Drilling Rig) แบบเดี่ยวๆ ไม่มีคู่เทียบ (Single Source) โดยไม่ผ่านการประมูล (Tendering) ที่ฝ่ายหน่วยเจาะเสนอมาให้ผมเซ็นอนุมัติการจัดจ้างที่มีมูลค่าประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 300 ล้านบาท โดยอ้างว่าแท่นเจาะกำลังจะย้ายออกจากอ่าวไทย ถ้าเรารีบไม่เซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทแท่นเจาะ ผมก็เลยต้องรีบเซ็นอนุมัติไปโดยมิได้ขออนุมัติจาก สำนักงานใหญ่ที่อเมริกาก่อน แต่เผอิญผมทำด้วยความโปร่งใส ก็เลยถูกแค่ “เตือน” (Warning) เท่านั้น
ช่วงเวลานี้ผมมีภารกิจที่ต้องเข้าไปเรียนพบผู้ใหญ่หลายท่านอยู่เป็นประจำ เช่น ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และท่านประธานบริษัท ปตท.สผ. อีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจคือ ท่านประธานบริษัทบ้านปู ได้เชิญผมไปทานข้าวเย็นบนเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา และผมก็ได้พบรุ่นพี่ธรณีวิทยาท่านหนึ่ง คือ พี่ระวิ คอศิริ ซึ่งทำงานกับ บริษัทบ้านปู ด้วย พี่ระวิก็แนะนำท่านประธานบ้านปูให้ผมรู้จัก "คุณโอวาส กรรมการผู้จัดการบริษัทเท็กซาโก้ (ประเทศไทย) และเป็นรุ่นน้องธรณีผมครับ"
ช่วงเวลาที่ทำงานกับบริษัทเท็กซาโก้นั้น ถือว่าเป็นช่วงที่ผมมีความสุขมากและสามารถเรียนรู้การบริหารจัดการบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เช่น การที่เท็กซาโก้จะโปรโมท (Promotion) หรือเลื่อนตำแหน่งให้ผม เท็กซาโก้ไม่เคยบอกผมเลย แต่เขาจะคอยดูว่าผมจะทำได้มั้ย ทั้งๆ ที่เท็กซาโก้ (อเมริกา) มี “เส้นทางอาชีพ” (Career Path) ให้ผมแล้วก็ตาม ผมก็ได้พยายามสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนให้เท็กซาโก้ เพื่อให้บริษัทฯ อยู่ได้ตลอดไป แต่อย่างไรก็ตามการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของ เท็กซาโก้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าใดนัก มีเพียงที่ ประเทศเมียนม่า เท่านั้นที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ คือ แหล่งก๊าซเยตากุน(Yetagun Gas Field) ดังนั้น เท็กซาโก้ จึงจำเป็นต้องขายสัมปทานใน ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย เพราะนี้คือกลยุทธ (Strategy) ของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ที่ว่าถ้าออกก็ต้องออกให้หมดจากภูมิภาคนี้
เซ็นสัญญาสัมปทานปิโตเลียมเพิ่มเติมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม
ต่อมาผมก็ได้รับคำสั่งจาก เท็กซาโก้ (อเมริกา) ว่าให้ขายสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย ให้แก่ บริษัทแฮร์รอดส์ (Harrods) ที่ประเทศอังกฤษ เจ้าของห้างช้อปปิ้งหรูชื่อดังระดับโลกของ ลอนดอน ทำให้ผมได้รู้จักกับ คุณเอล เฟย์ (Mr. El Fayed) เจ้าของบริษัทแฮร์รอดส์ แต่ผมก็ยังได้ดูแลธุรกิจโรงไฟฟ้า “Tri-Energy” ต่อไป ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้ธุรกิจไฟฟ้า หรือ ธุรกิจต่อเนื่อง (New Business) พร้อมทั้งได้ช่วยดำเนินการติดต่อประสานงานกับ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดพิธีเซ็นโอนสัปทานปิโตรเลียมให้แก่ บริษัทแฮร์รอดส์ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเรียบร้อย
กับคุณอัล ฟาเยด (Mr. El Fayed) เจ้าของบริษัทแฮร์รอดส์ ประเทศอังกฤษ
ทาง เท็กซาโก้ (อเมริกา) ได้แจ้งผมมาว่า บริษัทเชฟรอน(Chevron) ได้ทำการซื้อหุ้นทั้งหมดของ เท็กซาโก้ ในตลาดหลักทรัพย์ที่อเมริกา เพราะราคาหุ้นของเท็กซาโก้ตกลงต่ำมาก เนื่องจากผลประกอบการไม่ค่อยดี หรือที่เรียกว่า ”Merging and Acquisition” ให้ผมช่วยประสานงานกับ บริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย) ด้วย
ตัวแทนของ บริษัทเชฟรอน ก็ได้มาคุยกับผมเรื่องข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องโอนให้เขาและแจ้งผมว่าทางบริษัทเชฟรอน จะให้ผมไปทำงานที่ออฟฟิตอเมริกา เพราะที่เมืองไทยตัวแทนของบริษัทเชฟรอนจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) เอง ผมก็ถามเขาไปว่าจะให้ผมไปทำงานอะไร เขาก็ตอบว่าเดี่ยวจะหางานที่เหมาะให้
“I didn't want to go to work in US.” ผมตอบเขาไป
“You can take it or leave it up to you, Owas.” ฟังดูแล้วเหมือนจะดี
“I will leave it!!” ผมตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/owas.chinoroje
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ โอวาส จิโนรส (Owas Chinoroje) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------