BA พัฒนาการของงานด้านการบริหาร (Development of Management)
แนวทาง BASCIT ที่ใช้พัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรม *
พัฒนาการของงานด้านการบริหาร (Development of Management) ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ เริ่มจาก
- ระยะแรก มนุษย์ยังขาดประสบการณ์การบริหารจึงเป็นการลองผิดลองถูก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ยังไม่แพร่หลายและกว้างขวาง การเรียนรู้หลักการบางอย่างเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง หรือมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันในวงจำกัด เช่น การถ่ายทอดไปยังทายาทลูกศิษย์หรือลูกจ้าง เป็นต้น
- ช่วงระยะกลาง ต่อมาการบริหารเริ่มมีความหมายชัดเจนและรัดกุมขึ้น ในศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มนักรัฐประศาสน์ศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า Camera list ในประเทศเยอรมันและออสเตรีย ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การบริหาร หมายถึง การจัดการหรือการควบคุมกิจการต่างของรัฐ ปลายศตวรรษที่ 18 นักบริหารชาวสหรัฐอเมริกา Federalist ให้ความหมายคำว่า การบริหาร หมายถึง การบริหารงานของรัฐ (Public Administration) ทำให้เริ่มมีการใช้คำว่า Administration ที่หมายถึง การบริหารเกี่ยวกับกิจการของภาครัฐ ส่วนคำว่า Management หมายถึง การบริหารเกี่ยวกับภารกิจของภาคเอกชน
- ช่วงระยะในปัจจุบัน ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 - ปัจจุบัน อุตสาหกรรมและการค้าโลกโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ได้มีการขยายตัวอย่างไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีการผลิตสินค้าต่าง ๆ มากมายส่งขายแลกเปลี่ยนกระจายกันไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะเมื่อ Henry Ford ได้ทำการผลิตรถยนต์โดยนำเอาการใช้สายการผลิตเข้ามาช่วยในงาน และยังมีนักอุตสาหกรรมในสาขาอื่นก็ได้เริ่มเข้ามาพัฒนางานด้านอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้สมามารถทำการผลิตสินค้าได้ครั้งละมาก ๆ มีคิดค้นวิธีการลดต้นทุนการผลิตเพิ่มเข้ามาหลายวิธี โดยเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพ การเร่งเวลาในการผลิต และการลดตัดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ระยะนี้เองได้เริ่มมีการนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) มาใช้ช่วยในงาน โดยวิศวกรชาวอเมริกัน คือ Frederick W. Taylor
นอกจากนี้ยังมีเอกสารและนักวิชาการหลายท่าน ที่ได้พยายามแบ่งยุคหรือวิวัฒนาการทางการบริหาร ที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่น
- อรุณ รักธรรม (2551) แบ่งวิวัฒนาการบริหารเป็น 3 ระยะคือ
1) ระยะเริ่มต้น เป็นระยะของการปูพื้นฐานและโครงสร้าง บุคคลสำคัญในระยะนี้ได้แก่ Woodrow Wilson, Leonard D. White, Frank T. Goodnow, Max weber, Frederick W. Taylor และ Henri Fayol เป็นต้น
2) ระยะกลางหรือระยะพฤติกรรมและภาวะแวดล้อม ผู้มีชื่อเสียงในระยะนี้ได้แก่ Elton Mayo, Chester I. Barnard, Mary P. Follet เป็นต้น
3) ระยะที่สามหรือระยะปัจจุบัน มี Herbert A. Simon, Jame G. March เป็นผู้วางรากฐาน
- นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ (2552) แบ่งวิวัฒนาการของการบริหารเป็น 3 ยุคคือ
1) ยุคการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management Era) ผู้มีบทบาทสำคัญได้แก่ Frederick W. Taylor, Henri Fayol, Luther H. Gulick และ Lyndall Urwick
2) ยุคการบริหารแบบมนุษย์สัมพันธ์ (Human Relation Era) ผู้มีบทบาทสำคัญได้แก่ Mary P. Follet, Elton Mayo และ Fritz J. Rocthlisberger
3) ยุคทฤษฎีการบริหาร (The Era of Administrative Theory) เป็นยุคที่ ผสมผสานสองยุคแรกเข้าด้วยกัน จึงเป็นยุคบริหารเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ผู้มีบทบาทสำคัญได้แก่ Chester I. Barnard และ Herbert A. Simon
* ที่มา
- ดุษฎีนิพนธ์: แนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโรงโม่บดและย่อยหิน / เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ 2562
.
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราว การจัดการธุรกิจ (Business Management) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
การจัดการธุรกิจ (Business Management)
-------------------------------------------------