Industry4_006 อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ความสำคัญ
แนวโน้มทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกในอนาคตข้างหน้า (Global Megatrends) ได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะบทบาทที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลก ซึ่งส่งผลให้มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติได้ประเมินว่าในช่วงปี 2544-2643 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรโลก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัญหาทางด้านพลังงานและอาหารก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลกจึงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากบริบทของโลก ย่อมส่งผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญและปรับตัวให้สอดคล้องตามบริบทดังกล่าว
นอกจากนี้การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) สู่ยุคของ Internet of Things (IoT) เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จนเกิดแนวโน้มของการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัล (Internet of People: IoP) รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการเพิ่มผลิตภาพสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 ที่มีการเชื่อมโยงของดิจิทัลกับอุปกรณ์ในระบบการผลิต (Cyber-Physical Production System: CPPS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในด้านความสามารถในการทำงานของเครื่องจักร การวางแผนการผลิตและความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่จะเข้ามามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในอนาคต
ภาคอุตสาหกรรมจึงควรมีการเตรียมความพร้อม และกำหนดทิศทางให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และใช้ประโยชน์จากโอกาสอันดีในการยกระดับผลิตภาพและนวัตกรรมของ ภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้เพื่อแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นและปรับทิศทางของภาคอุตสาหกรรมไปสู่อนาคตดังที่กล่าวมาแล้ว การสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภาพและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 พร้อมกับคำนึงถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และการเพิ่มคุณค่าให้กับสังคม (Creating Share Value) จะเป็นตัวขับเคลื่่อนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยที่่สำคัญที่่ประเทศควรมุ่งเน้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถยกระดับไปสู่การพัฒนาอีกระดับ พร้อมด้วยความสมดุลและยั่งยืน (Sustainability Growth) อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอุตสาหกรรม 4.0 มี 2 ส่วนหลักคือ ส่วนฮาร์ดแวร์ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และระบบควบคุมการทำงาน และส่วนซอฟท์แวร์ ประกอบด้วย โปรแกรมควบคุมระบบการทำงาน และการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ทำให้เกิดข้อมูลในระบบการผลิตขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
อุตสาหกรรม 4.0 มีแนวคิดที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ หรือการขายสินค้า โดยการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักร และระบบเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้เอง หรือการผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเน้นการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและตลาด ทำให้อาจสามารถตอบสนองถึงระดับรายบุคคลได้โดยยังรักษาคุณภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ความคาดหวังหรือความท้าทายในอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ การผลิตสินค้าตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคได้มากขึ้น มีวงจรในการเกิดนวัตกรรมสินค้าที่สั้นลง สินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้นระยะเวลาในการผลิตสั้นลง และรองรับความต้องการตลาดที่ผันผวนมากขึ้น สามารถแข่งขันในการผลิตได้เพิ่มมากขึ้น
---------------------------------
ที่มาข้อมูล
---------------------------------
สนใจเรื่องราวเพิ่มเติมคลิกที่นี่
อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) รวมข้อมูล