RFID (Radio Frequency Identification)
RFID ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของ IoT โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่ไม่มี IP address ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญ และมีปริมาณเพิ่มมากขี้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตการเชื่อมติดต่อกันของอุปกรณ์กลุ่มนี้เริ่มมีการติดต่อถึงกันในหลากหลายรูปแบบมีการพัฒนาตัว Sensor ให้สื่อสารถึงกันได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่า RFID จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายเช่น ระบบค้าปลีก ค้าส่ง การผลิต การบริหารจัดการโลจิสติกส์และชัพพลายเชนและระบบรักษาความปลอดภัย และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาททดแทนระบบบาร์โค้ด ด้วยคุณสมบัติของตัวซิปที่มีศักยภาพสูงกว่า
RFID ใช้คลื่นวิทยุในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์รับส่ง มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า RFID Tag และตัวอ่านข้อมูล Reader สื่อสารกันแบบไร้สาย โดยการนำข้อมูลที่ต้องการส่ง-รับเป็นคลื่นวิทยุแล้วส่งออกผ่านทางสายอากาศไปที่ตัวรับข้อมูล องค์ประกอบระบบ RFID มี 3 ส่วนคือ
1. Tags หรือ Transponders (Transmitter + Responder)ใช้ติดกับวัตถุที่เราต้องการประกอบด้วยไมโครซิปที่มีการบันทึกหมายเลข (ID) หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้น ทำหน้าที่ส่งสัญญาณหรือข้อมูลที่บันทึกใน Tag ไปที่ตัวอ่านข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
• Passive tag ไม่มีแบตเตอรี่อยู่ภายใน ทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวอ่านข้อมูล
• Active tag มีแบตเตอรี่อยู่ภายใน เพื่อป้อนพลังงานไฟฟ้าให้ Tag ทำงาน ทำให้สามารถรับ-ส่งสัญญาณข้อมูลกับ RFID Reader ได้ในระยะไกล สามารถทำงานในบริเวณที่มีสัญญาณรบกวนได้ดี และสามารถอ่านและเขียนข้อมูลลงใน Tag ได้
2. Readerหรือ Interrogator ทำหน้าที่เขียนหรืออ่านข้อมูลใน Tag ประกอบด้วยภาครับและส่งสัญญาณวิทยุเพื่อส่งคลื่นความถี่วิทยุไป Tag และรับข้อมูลที่ส่งจากTagทำการตรวจสอบความผิดพลาดถอดรหัสและนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการต่อไป
3. Application ระบบประยุกต์ใช้งานรวมถึงระบบฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์ และระบบฐานข้อมูล อาจเรียกว่า middleware
RFID พัฒนาเพื่อมาเสริมจุดอ่อนของระบบการอ่านค่าแบบเดิมโดยเครื่องอ่านข้อมูล RFID อาจอ่านได้ระยะห่างหลายเมตร สามารถบรรจุข้อมูลได้มากพอที่จะใช้อ้างอิงรายละเอียด สามารถอ่านข้อมูลได้รวดเร็ว และยังอ่านได้จากระยะไกลโดยส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้เลยปัจจุบันมีการนำ RFID มาประยุกต์ใช้ในงานธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมุ่งให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจในการบริการ เช่น ด้านการขนส่ง ด้านการปศุสัตว์ ด้านบริการงานเอกสารราชการ ด้านการแพทย์ ด้านการเงินด้านความปลอดภัยและยังเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์และชัพพลายเชนได้อีกหลากหลาย ด้วยกระแสการพัฒนาเทคโนโลยี RFID ประกอบกับคุณสมบัติของการนำไปประยุกต์ใช้เป็น Application ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลา ทำให้ RFID เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
จากความสามารถของ RFID ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ผู้บริหารในยุคดิจิทัลที่เริ่มวางแผนจะนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ ควรต้องพิจารณาให้ละเอียดในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเทคโนโลยี มาตรฐานการใช้ในงาน อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับระบบ ค่าใช้จ่ายที่จะมีในด้าน Hardware, Software, ระบบเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม และผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและบริการ
- ที่มา 59LOF03 Logistics Forum ปีที่ 8 ฉบับที่ 34 พฤษภาคม - มิถุนายน 2559
-----------------------------------------------
? ติดตามข้อมูลข่าวสารได้จากช่องทางสื่อสาร iOK2u ได้ที่
? Facebook: https://www.facebook.com/iok2u