Smart องค์ประกอบพื้นฐาน เมืองอัจฉริยะ (Smart City) 7 ด้าน
ปัจจุบันกระแสการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิด เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากนานาประเทศทั่วโลก จากรายงานของ Smart City Tracker 1Q18 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มีชื่อว่า Navigant Research ได้ทำการสำรวจจำนวนโครงการที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด เมืองอัจฉริยะ พบว่ามีโครงการเมืองอัฉริยะมากกว่า พันโครงการในกว่า 300 เมืองทั่วโลก
เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง นิยาม ขอบเขต และองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้กำหนดนิยามของเมืองอัจฉริยะว่าเป็น
"เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังได้กำหนด องค์ประกอบพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะไว้ 7 ด้าน คือ
- ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility) เมืองที่มุ่งเน้นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน การเดินทางสะดวกปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบโลจิสติกส์ และการใช้ยานพาหนะประหยัดพลังงาน
- พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารเมืองหรือผู้นำท้องถิ่นที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเมืองสร้างพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบรวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม
- การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เมืองที่มุ่งเน้นการสนับสนุน ให้มีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรมไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
- เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เมืองที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยจะผลักดันเมืองเป้าหมายเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านใดด้านหนึ่งบนฐานนวัตกรรม เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
- ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น Smart Portal เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
- พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy)
- สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
.
ที่มาข้อมูล
-
ที่มาภาพและรวบรวมโดย
---------------------------------------------
สนใจข้อมูลเรื่องราวเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ระบบการดำเนินงานอัจฉริยะ (Smart Operation)---------------------------------------------