โลกยุคบานี่ (BANI World)
ภายหลังจากการเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ขึ้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบต่อโลกมากมายอย่างที่หลายคนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าโลกในอนาคตใหม่ (New Normal) หลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร และจากที่เคยพูดถึงโลกยุควูก้า (VUCA World) หรือ โลกยุคที่มีความผันผวนว่าจะยังสามารถนำมาใช้อธิบายสภาพการณ์ของโลกในยุค New Normal นี้ได้อีกไหม
Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกาได้ไขปริศนาเรื่องนี้ ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่โลกในอนาคตหลังวิกฤติโควิดต้องพบเจอ และเรียกมันว่า โลกยุคบานี่ (BANI World) ปรากฏในข้อเขียนงานสัมมนาของ IFTF (Institute of the Future เป็น Think Tank หรือองค์กรเสนอความคิดต่อสังคม)
โลกยุคบานี่ (BANI World) เป็นกรอบคิดที่พยายามทำการอธิบายและพยากรณ์โลกยุคใหม่ โดยเสนอแนวคิดว่าหลายสิ่งในโลกแตกสลายได้ง่าย และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ความเปราะบางนี้มีผลต่อความมั่นคงขององค์กรต่างๆ โลกยุคบานี่จะช่วยให้ผู้คนมองโลกจากความเป็นจริง โอกาสที่จะเกิด การเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมพร้อมสำหรับโลกธุรกิจที่เปาะบางในอนาคตต่อไปได้ดีขึ้น
โลกยุคบานี่ (BANI World) ถูกคิดค้นโดย Jamais Cascio โดยต่อยอดจากแนวคิดทางสังคมวิทยา Liquid Modernity ที่กล่าวว่าทุกอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหลที่คลุมเคลือไม่แน่นอน ลักษณะของ BANI ประกอบด้วย
Brittle เป็นโลกที่เปราะบาง หมายถึง แทบทุกอย่าง มาเร็วไปเร็ว ความสำเร็จในโลกธุรกิจหลายตัวไม่อาจอยู่คงทนถาวร แถมยังแตกหักได้ง่าย อาจถูก disrupt ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น แม้ว่าตอนนี้ blockchain กำลังมาแรง แต่หากมีเทคฯ ที่ดีกว่าที่พร้อมใช้งานได้จริงทันที (หรือแม้แต่ ควอนตัมคอมพิวเตอร์) ระบบทั้งหมดก็อาจจะจบทันที หรือ ก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านซักผ้าอัตโนมัติอาจจะกำลังมาแรง จนมีเฟรนำชส์ ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเกิดโรคระบาด ก็อาจเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้กลัวที่จะใช้บริการนี้ ร่วมกันกับคนอื่นๆไปเลยก็เป็นได้
Anxiety-inducing หรือ Anxious เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ทุกทางเลือกอาจจะไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง สามารถล้มเหลวได้ อาจทำให้เกิดความลังเล ชะงักงัน ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ ความสิ้นหวัง หรือ ภาวะ learn helplessness เพราะพลาดอยู่เรื่อยๆได้ง่าย
Nonlinear หรือ เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่เป็นเส้นตรง เหตุและผล อาจไม่แปรผันตามกันชัดเจนเหมือนเดิม มีปัจจัยแทรกซ้อน ตัวแปร สถานการณ์อื่นๆ มาส่งผลกระทบแบบที่เราไม่รู้ หรือ ส่งผลล่าช้า ดีเลย์ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ หรือ ทำนายได้ ระบบตรรกะแบบเดิมๆ อาจถูกทำให้รวนได้
ตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด คือ วิกฤตโรคระบาดนี้เลยครับ ที่เราพยายามคาดการณ์หลายที ว่าจะจบช่วงนั้นช่วงนี้ เพราะ ยึดหลักระบาดวิทยา และตามหลักเราควรสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในปีแรกเลย แต่ทว่า....ก็เป็นอย่างที่เราเห็นนั่นแหละครับ
Incomprehensible หรือ โลกที่เข้าใจได้ยาก คือ มันจะมีความซับซ้อน บางครั้งการใช้ data มาช่วยอาจทำได้ยากเกิดปัญหา "ข้อมูลท่วม" (Information Overload)
BANI เป็นมากกว่าสถานการณ์ผันผวน,ไม่แน่นอน,ซับซ้อน,คลุมเครือ เป็นการกระทบด้านอารมณ์ของคนด้วย เช่น ความกังวล, ความหดหู่, ความสับสน เป็นต้น