พ.ศ. 2551 แล้ว จะใช้คอมพ์หรือใช้เศษกระดาษ แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
พ.ศ. 2551 แล้ว จะใช้คอมพ์หรือใช้เศษกระดาษ
“เฮีย เฮีย วันนี้เผารุ่นสีเขียวอีก 60 ชิ้นนะ มันไม่พอ” พนักงานในโรงงานวิ่งมาปรึกษาผู้จัดการโรงงานที่ห้องทำงานอย่างรีบร้อน
“ไหน ดูซิ ออเดอร์ของใคร” ผู้จัดการถามกลับ
“ของเจ๊ขาว เฮีย หนูจะให้แทรกเตานี้ ของที่มีไม่พอ ต้องส่งพรุ่งนี้ด้วย เดี๋ยวไม่ทัน” เธอรายงานสถานการณ์พร้อมยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เฮีย เขียนรายการสินค้าชนิดต่างๆ เต็มไปหมด พร้อมตัวเลขกำกับ มีรอยขีดฆ่ามากมาย
ผู้จัดการรับกระดาษแผ่นนั้นมาดู อ่านอย่างคุ้นเคยเหมือนเห็นแบบนี้อยู่ทุกวัน พลันส่ายหน้าพร้อมบ่น
“เมื่อวานคุยกันแล้วไง นึกว่าเผาตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว นี่ทำไมยังไม่เผาอีก ใครเป็นคนเปลี่ยนแผน เออ แทรกเลย รีบละกัน เดี๋ยวไม่ทัน”
ผู้จัดการสั่งการอย่างรวดเร็ว และเป็นการอนุมัติอย่างกันเอง
“จ้ะ จ้ะ” พนักงานอ่านสถานการณ์ รู้ดีว่าไม่ต้องตอบผู้จัดการแล้วว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนแผนเมื่อคืน เพราะตัวเองลืม จึงไม่อยากอธิบายให้เข้าตัวด้วย เลยรีบขอกระดาษคู่ชีพแผ่นนั้นคืนมา เขียนตัวเลข 60 เพิ่มลงไปในกระดาษแผ่นนั้น พร้อมขีดฆ่าตัวเลขถัดไปในบรรทัดนั้น หยิบเครื่องคิดเลขมาบวกเลขใหม่ พร้อมเขียนตัวเลขใหม่เข้าไป เป็นยอดผลิตใหม่ของรุ่นสีเขียวที่เพิ่มอีก 60 ชิ้น ตามที่ตกลงกัน แล้วรีบออกไปอย่างรวดเร็ว
หนึ่งชั่วโมงผ่านไป พนักงานคนนี้กลับเข้ามาอีก มือยังคงมีกระดาษคู่ชีพแผ่นเดิม พร้อมถ้วยกาแฟสีเทาเคลือบด้าน หนึ่งใบ คราวนี้ไม่รีบร้อนเท่าไร
“เฮีย ร้านดีดีเครื่องเคลือบ จตุจักร ต้องการเพิ่มถ้วยกาแฟรุ่นนี้อีก จะแทรกเมื่อไรได้บ้าง” เธอขอคำแนะนำ
เฮียหน้าเครียดเลยคราวนี้ เพราะในกระดาษที่พนักงานยื่นให้เขียนตัวเลขและรอยขีดฆ่าเต็มหมดแล้ว “แล้วจะให้แทรกตรงไหน ?”
ในธุรกิจปัจจุบัน คำสั่งซื้อของลูกค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น มีความต้องการสินค้าด่วนขึ้น จากแต่ก่อนเคยสั่งสินค้า 2-3 แบบ ๆ ละจำนวนมากๆ บางครั้งเต็มตู้ในหนึ่งคำสั่งซื้อ แต่เดี๋ยวนี้ในหนึ่งคำสั่งซื้อมีมากแบบขึ้นและจำนวนแต่ละแบบลดลงปนๆ กันไปและบางครั้งไม่เต็มตู้ด้วย การทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดความเครียดทั้งเจ้าของ ผู้จัดการและพนักงาน
เพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ผู้ประกอบการเซรามิกต้องปรับตัวให้ก้าวผ่านยุคฝีมือแรงงานมาเป็นยุคไอทีให้ได้ เทคโนโลยีการผลิตเซรามิกผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว จากเตารุ่นเก่าเป็นเตารุ่นใหม่ แต่การจัดการหลายโรงงานยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องปรับตัวทางด้านนี้ให้สามารถรองรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการที่มีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มารองรับระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์อยู่แล้ว เช่น Enterprise Resource Planning (ERP), Warehouse Management System (WMS), Transport Management System (TMS) และมีเครื่องมือการวิเคราะห์และวางแผนต่างๆ ก็จะสามารถพัฒนาบุคลากรให้ใช้เครี่องมือเหล่านี้มาประกอบการทำงานให้ดีขึ้น
โรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องพิจารณาการนำมาใช้อย่างเหมาะสม เพราะคงเลี่ยงยากที่จะไม่นำระบบต่างๆ เหล่านี้มาใช้งาน แต่การตัดสินใจต้องมีที่ปรึกษาที่ดี เพื่อให้สามารถนำระบบที่จำเป็นจริงๆ มาใช้ในช่วงแรก ให้ความรู้และเพิ่มทักษะให้พนักงานในการทำงานกับเครื่องมือเหล่านี้ เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ คงไม่ต้องวิ่งถือกระดาษคู่ชีพแผ่นนั้น
ไปมาเหมือนเช่นทุกวันนี้
-----------------------------------------------