iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

ภาพรวมอุตสาหกรรมเซรามิกและกิจกรรมโลจิสติกส์ (Overview of the ceramic industry and logistics activities)

เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550

สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ภาพรวมอุตสาหกรรมเซรามิก

อุตสาหกรรมเซรามิกของไทย แบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ได้ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสุขภัณฑ์ กลุ่มกระเบื้อง กลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร กลุ่มของชำร่วยและเครื่องประดับ และกลุ่มลูกถ้วยไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของกลุ่มสุขภัณฑ์และกระเบื้องเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในขณะที่กลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร กลุ่มของชำร่วยและเครื่องประดับ และกลุ่มลูกถ้วยไฟฟ้าเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้พื้นที่หลักภายในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตเซรามิก ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรี กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบและเป็นฐานการผลิตมาเป็นเวลายาวนาน

การส่งออก กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาเป็นของชำร่วยและเครื่องประดับ สุขภัณฑ์ กระเบื้อง และลูกถ้วยไฟฟ้า ตามลำดับ โดยมีญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปเป็นตลาดหลัก

การนำเข้า แม้วัตถุดิบส่วนใหญ่สำหรับการผลิตเซรามิก ได้แก่ ดินขาว ดินดำ หินฟันม้า และทรายแก้ว ฯลฯ สามารถจัดหาได้จากแหล่งภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบบางชนิดจากต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ดิน สี หรือสารเคลือบ นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายได้นำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายในตลาดระดับบนและตลาดระดับล่างบางส่วน

อุตสาหกรรมเซรามิกมีข้อจำกัดทางด้านการผลิตหลายประการ กล่าวคือ การผลิตประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอน ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ใช้เชื้อเพลิงและแรงงานจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มีโอกาสแตกหักเสียหายทุกขั้นตอนการผลิต จัดเป็นอุตสาหกรรมซึ่งต้องการการพัฒนาหรือปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก

ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเซรามิกเริ่มตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ คือ เหมืองแร่ซึ่งผลิตวัตถุดิบส่งไปยังโรงแต่งแร่ โรงแต่งแร่นำแร่ที่ได้จากเหมืองมาดำเนินการแต่งแร่เพื่อให้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามความต้องการของโรงงานผลิตเซรามิก โรงงานเซรามิกจะนำวัตถุดิบทั้งหมดมาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก แล้วจึงส่งให้แก่ผู้กระจายสินค้า ผ่านทางผู้จัดจำหน่ายทั้งผู้ค้าส่งและค้าปลีก ก่อนจะส่งให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 

อุตสาหกรรมเซรามิกมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าผ่านกระบวนการส่งมอบสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมต้นทุนโลจิสติกส์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กร

ระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กรเริ่มตั้งแต่นำดินซึ่งเป็นวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน จัดเก็บในคลังวัตถุดิบเพื่อรอการผลิต เมื่อมีคำสั่งผลิตจึงนำดินไปขึ้นรูปชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน เผาดิบหรือเผาบิสกิตที่ความร้อนประมาณ 800-900 องศาเซลเซียส เพื่อไล่ความชื้นออกจากดิน จนได้ชิ้นงานบิสกิต (ผลิตภัณฑ์เซรามิกบางชนิด เช่น สุขภัณฑ์ กระเบื้องบุฝาผนังบางชนิดไม่จำเป็นต้องผ่านการเผาดิบ) จากนั้นนำไปตกแต่งลวดลาย ชุบเคลือบชิ้นงาน และนำชิ้นงานไปเผาเคลือบอีกครั้งที่ความร้อนสูงประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส หากมีการติดรูปลอก จะเผาตกแต่งอีกครั้งที่อุณหภูมิประมาณ 600-800 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้งานเซรามิกที่สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อแล้วเสร็จจึงนำเก็บเข้าคลังสินค้าเพื่อรอการจัดส่งให้ลูกค้า

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กรประกอบด้วย การพัฒนาระบบการวางแผนโลจิสติกส์ การจัดซื้อ การบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ ชิ้นงานระหว่างผลิต และผลิตภัณฑ์ภายในโรงงาน การจัดการคำสั่งซื้อ การจัดส่งสินค้า และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโลจิสติกส์

การวางแผนโลจิสติกส์ทั้งกระบวนการ เป็นการจัดทำแผนการผลิต แผนสินค้าคงคลังของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ แผนการจัดซื้อวัตถุดิบตลอดจนแผนการจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแผนการขายและการตลาด ความถูกต้องของการพยากรณ์การขาย ความเข้าใจในช่วงเวลาส่งมอบของสินค้า (Lead Time) และความต่อเนื่องของแผนต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อประสิทธิภาพของแผนซัพพลายเชนและแผนโลจิสติกส์โดยรวม

ระบบการจัดซื้อ ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะธุรกิจและกระบวนการผลิตของผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ทราบถึงช่วงเวลาส่งมอบและข้อจำกัดต่างๆ ของผู้ส่งมอบทุกราย เพื่อพิจารณารอบและปริมาณการสั่งซื้อที่เหมาะสม ลดความผิดพลาดในกระบวนการจัดซื้อ และควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางสภาวะการที่ต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และแรงงานสูงขึ้นอย่างมาก

การบริหารสินค้าคงคลังวัตถุดิบ ชิ้นงานระหว่างผลิต และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ต้องมีการวางแผนตามความต้องการขายและผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเก็บสินค้าคงคลังที่มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น และทำให้มีความยุ่งยากด้านการจัดเก็บ นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการเก็บสินค้าคงคลังผลิตภัณฑ์ในระดับที่ต่ำเกินไปซึ่งจะทำให้เสียโอกาสในการขายหรือการเก็บสินค้าคงคลังของวัตถุดิบน้อยไปซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ต้องหยุดการผลิตลง

การจัดการคลังสินค้า สำหรับวัตถุดิบต้องมีสถานที่จัดเก็บที่สามารถป้องกันความเสียหาย และต้องเป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการขนถ่าย สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป สำหรับชิ้นงานระหว่างผลิต ต้องจัดวางให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในขั้นต่อไปได้อย่างถูกต้อง และไม่ควรให้เกิดการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้งหรือเป็นระยะทางไกลโดยมิได้มีอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้า สำหรับสินค้าสำเร็จรูป เป็นสินค้าคงคลังที่มีมูลค่าสูงที่สุด เพราะในตัวชิ้นงานมีต้นทุนที่ผ่านหลายกระบวนการรวมอยู่ จึงควรมีระบบการจัดเก็บและนำออก รวมทั้งพื้นที่จัดเก็บที่แน่นอนจัดวางตามการเคลื่อนไหวของสินค้า เช่น สินค้าค้างสต็อกควรอยู่ด้านในสุด สินค้าเคลื่อนไหวเร็วควรอยู่ใกล้ประตูคลังสินค้า เป็นต้น ระบบป้องกันความผิดพลาดในกระบวนการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น มีป้ายบ่งชี้กระบวนการทำงาน ป้ายแจ้งเตือนต่าง ๆ อีกทั้งต้องมีการตรวจนับสินค้าคงคลังอยู่เสมอเพื่อทราบปริมาณที่แท้จริงสำหรับการขาย การวางแผน และการผลิตในครั้งต่อไป

การจัดการคำสั่งซื้อ ต้องให้ความสำคัญกับความถูกต้องของการให้ข้อมูลในคำสั่งซื้อ มีระบบตรวจสอบความพร้อมของสินค้าที่จะขาย ความพร้อมของการจัดส่ง และการตรวจสอบเครดิตของลูกค้า มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายจัดส่งเพื่อให้เกิดการจัดเตรียมสินค้าและการจัดส่งได้อย่างถูกต้องตามรายการในคำสั่งซื้อ

การจัดส่งสินค้า ต้องให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมสินค้าของฝ่ายคลังและการจัดเตรียมรถบรรทุกของฝ่ายจัดส่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลา สามารถใช้ประโยชน์รถขนส่งได้อย่างเต็มที่  ได้แก่ การบรรทุกได้เต็มคัน และการทำรอบได้อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโลจิสติกส์ได้แก่ การมีระบบเชื่อมโยงแผนและการปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ในซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ภายในองค์กร ทำให้การสื่อสารของข้อมูลด้านโลจิสติกส์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานของพนักงานหลายๆ ฝ่าย นอกจากนี้ยังสามารถประมวลข้อมูลด้านการปฏิบัติการมาวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการ เช่น ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ระบบ Warehouse Management System (WMS) ระบบ Transport Management System (TMS) เป็นต้น 

 -----------------------------------------------

 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward