CT52 ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลในประเทศไทย (An Energy Efficiency Indices of Thailand Sugar Industries)
Assist. Prof. VARIN VONGMANEE
Logistics Research Center, University of the Thai Chamber of Commerce
1. บทนำ
อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมหลักหนึ่งของประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขันอยู่ในระดับสากล โดยผลิตภัณฑ์น้ำตาลของประเทศไทยนอกจากใช้เพื่อบริโภคภายในประเทศแล้วยังเป็นสินค้าส่งออกที่เพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำตาลมากเป็นอันดับ 7 ของโลกหรือประมาณ 7 ล้านตันต่อปีและเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับสองของโลกหรือประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปีโดยมีคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทยคือประเทศบราซิลซึ่งส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และประเทศออสเตรเลียที่กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญตามมา ซึ่งทั้งสองประเทศมีระดับเทคโนโลยีการผลิตและความก้าวหน้าในด้านการวิจัยและพัฒนาการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันอื่นๆขณะที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ต่างได้รับการสนับสนุนในอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกจากรัฐบาลจนสามารถขายในราคาต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ได้ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของไทย ซึ่งเคยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ กำลังสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลกไปทุกขณะอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต้นทุนที่เป็นปัจจัยหลักของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลคือต้นทุนทางด้านพลังงาน ทั้งในรูปของพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของประเทศไทยยังไม่เคยทำการศึกษาค่าดัชนีการใช้พลังงานในการผลิตน้ำตาลมาก่อน จึงไม่สามารถทราบได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตน้ำตาลอยู่ในระดับใดของมาตรฐานของโลก
ดังนั้นเพื่อหาแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมระดับโลกได้ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนต่อไปประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการศึกษา และทำการประเมินค่าดัชนีการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เพื่อประเมินศักยภาพและมาตรฐานการใช้พลังงานของตนเองและเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พร้อมทั้งหาแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งค่าดัชนีการใช้พลังงานจะมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามและควบคุมการใช้พลังงาน และยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงาน การพัฒนา ตลอดจนนำไปเปรียบเทียบเพื่อประเมินว่าโรงงานมีการใช้พลังงานอยู่ในระดับใดกับค่ามาตรฐานเพื่อดำเนินการปรับปรุงต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ทำการศึกษาสามารถนำมาขยายผลให้กับโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันได้
2.ข้อมูลโรงงานและขั้นตอนการผลิตน้ำตาล
โรงงานน้ำตาลในประเทศไทยมีทั้งหมด 46 โรงงานแบ่งตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้คือ ภาคกลาง จำนวน 18โรงงาน ภาคเหนือ จำนวน 10 โรงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 13 โรงงานและภาคตะวันออกจำนวน 5 โรงงาน เมื่อทำการแบ่งโรงงานน้ำตาลตามกลุ่มของผู้ประกอบการนั้น จะสามารถแบ่งตามกลุ่มผู้ประกอบการรายสำคัญได้ดังนี้ กลุ่มมิตรผล มีจำนวนโรงงาน 5 โรงงาน กลุ่มไทยเอกลักษณ์มีจำนวน 3 โรงงาน กลุ่มวังขนาย มีจำนวน 4 โรงงาน กลุ่มไทยรุ่งเรือง มีจำนวน 7 โรงงาน กลุ่มกำแพงเพชร มีจำนวน 1 โรงงาน กลุ่มบ้านโป่ง มีจำนวนโรงงาน 2 โรงงาน กลุ่มกุมภวาปี มีจำนวน 2 โรงงาน กลุ่มท่ามะกาและกลุ่มอิสระ มีจำนวนทั้งสิ้น 17 โรงงาน โดยทุกโรงงานทั่วไปจะมีขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลรีไฟน์ที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่ชนิดของเครื่องจักร จำนวนของเครื่องจักร และเทคโนโลยีของเครื่องจักร ซึ่งทำให้ได้ความสามารถในการผลิต (Productivity) ที่แตกต่างกัน ระยะเวลา พลังงานและทรัพยากรที่ใช้แตกต่างกัน โดยกระบวนการผลิตของโรงงานทั่วไปจะแบ่งออกเป็นสองกระบวนการคือ กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ และกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายขาวและรีไฟน์ ดังมีรายละเอียดดังรูปภาพที่ 1 และรูปภาพที่ 2 ตามลำดับ
รูปภาพที่ 1 กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ (www.sugarzone.in.th)
รูปภาพที่ 2 กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายขาวและรีไฟน์ (www.sugarzone.in.th)
3. เกณฑ์การคัดเลือกโรงงานเพื่อทำการศึกษาภาคสนาม
จากโรงงานน้ำตาลทั้งหมดทั่วประเทศมีจำนวน 46 โรงงาน ทางทีมนักวิจัยได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกโรงงานน้ำตาลจำนวน 10 โรงงาน เพื่อทำการศึกษา เก็บข้อมูลในภาคสนามและวิเคราะห์ผลโดยกำหนดรายชื่อกลุ่มตัวอย่างเป็นตัวอังษร A-J เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของแต่ละโรงงาน ดังนั้นการคัดเลือกโรงงานน้ำตาลในการทำวิจัย จึงเป็นเพียงเป็นตัวอย่างในการศึกษาพฤติกรรมของกระบวนการผลิตน้ำตาลจึงมีความจำเป็นและต้องชัดเจน จากการตรวจสอบภาพรวมของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศสามารถแบ่งแยกตามลักษณะทางกายภาพต่างๆเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณากำหนดสามารถสรุปได้ดังนี้
กำลังการผลิตของโรงงาน เพื่อทำการศึกษาพฤติกรรมการผลิตน้ำตาล ให้ครอบคลุมถึงกำลังการผลิตของโรงงานที่มีความหลากหลาย โดยแบ่งขนาดของกำลังการผลิตเป็น 3 ขนาดดังนี้
- ขนาดใหญ่ หมายถึงโรงงานที่มีปริมาณการหีบอ้อยมากกว่า 2 ล้านตัน จำนวน 2 โรงงาน
- ขนาดกลาง หมายถึง โรงงานที่มีปริมาณการหีบอ้อยอยู่ระหว่างมากกว่า 1ล้านตันแต่ไม่เกิน 2 ล้านตัน จำนวน 3 โรงงาน
- ขนาดเล็ก หมายถึง โรงงานที่มีปริมาณการหีบอ้อยน้อยกว่า 1 ล้านตันหรือใกล้เคียง จำนวน 5 โรงงาน
เขตที่ตั้งทางภูมิประเทศ ผู้วิจัยได้คัดเลือกโรงงานน้ำตาลจากพื้นที่ตั้งทางภูมิประเทศที่ต่างกัน เพื่อทำการศึกษาให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมของโรงงานน้ำตาลที่เกิดขึ้นจากที่ตั้งทางกายภาพ โดยได้คัดเลือกโรงงานตามภูมิภาคที่ตั้งของโรงงาน ดังนี้ ภาคเหนือ จำนวน 2 โรงงาน ภาคกลาง จำนวน 4 โรงงาน ภาคตะวันออก จำนวน 2 โรงงาน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 โรงงาน
กลุ่มของผู้ประกอบการ สำหรับปัจจัยนี้ผู้วิจัยมีความประสงค์จะศึกษาพฤติกรรมของโรงงานน้ำตาลที่มีผลมาจากผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน ในการคัดเลือกโรงงานน้ำตาลจึงได้มีการกำหนดกลุ่มผู้ประกอบการดังนี้ กลุ่มมิตรผล 2 โรงงาน กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 1 โรงงาน กลุ่มไทยรุ่งเรือง 1 โรงงาน กลุ่มท่ามะกา 2 โรงงาน กลุ่มกุมภวาปี 1 โรงงานและกลุ่มอิสระ 3 โรงงาน
ผลผลิตน้ำตาลต่อ 1 ตันอ้อย ผู้วิจัยต้องการศึกษาถึงพฤติกรรมของโรงงานน้ำตาลที่มีผลผลิตน้ำตาลต่อ 1 ตันอ้อยที่ต่างกัน ทางทีมผู้วิจัยจึงได้แบ่งกลุ่มของโรงงานน้ำตาลตามปัจจัยนี้ดังนี้
- ผลผลิตน้ำตาลต่อ 1 ตันอ้อยต่ำกว่า 100 กิโลกรัม จำนวน 2 โรงงาน
- ผลผลิตน้ำตาลต่อ 1 ตันอ้อยอยู่ระหว่าง 100 กิโลกรัม ถึง 110 กิโลกรัม จำนวน 5 โรงงาน
- ผลผลิตน้ำตาลต่อ 1 ตันอ้อยสูงกว่ากว่า 110 กิโลกรัม จำนวน 3 โรงงาน
จากนั้นทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้อง (In-depth Interview) การวิจัยภาคสนาม (Field Survey Research) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งต่างๆ เช่นดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากรายงานการศึกษาและวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น
4. ดัชนีวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตและปฏิบัติการในโรงงานส่วนใหญ่มีพลังงานที่ใช้อยู่ 2 รูปแบบ คือ พลังงานไอน้ำและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้เป็นดัชนีในการวัดประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต พลังงานทั้งสองส่วนเกิดจากการผลิตของโรงงาน โดยใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบเป็นวัตถุดิบในการผลิต พลังงานส่วนแรกที่ได้คือไอน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปใช้ในกระบวนการผลิต อีกส่วนหนึ่งนำไปขับกังหันในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองในกระบวนการผลิตน้ำตาล นอกจากนั้นยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกหากมีกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ในการผลิตและช่วงนอกฤดูหีบซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าในส่วนของการบำรุงรักษาเครื่องจักรและใช้ในสำนักงานโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่มีกระแสไฟฟ้าเหลือขายให้กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ในโครงการ “ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP)” กากอ้อยหรือชานอ้อย เป็นชีวมวลที่ได้จากโรงงานน้ำตาล ในการวัดประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในด้านของพลังงานนั้น โรงงานส่วนใหญ่จะมีดัชนีชี้วัดอยู่ 4 รายการ ดังนี้
- ปริมาณการใช้ไอน้ำกี่กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน
- ปริมาณการใช้ไอน้ำกี่กิโลกรัมต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตัน
- กำลังไฟฟ้าในการกระบวนการผลิตกี่หน่วยต่ออ้อย 1 ตัน และ
- กำลังไฟฟ้าในการผลิตน้ำตาลกี่หน่วยต่อน้ำตาล 1 ตัน
5. ผลการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
จากข้อมูลการใช้พลังงานของกระบวนการผลิตน้ำตาลซึ่งประกอบด้วยปริมาณหลัก 4 ปริมาณได้แก่ ปริมาณการใช้ไอน้ำต่อตันอ้อย ปริมาณการใช้ไอน้ำต่อตันน้ำตาล ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าต่อตันอ้อยและปริมาณการใช้ไอน้ำต่อตันน้ำตาล ของทั้ง 10 โรงงานตัวอย่าง สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้
รูปภาพที่ 3 แสดงการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิตต่อตันอ้อย
จากรูปภาพที่ 3 จะเห็นว่าโรงงานน้ำตาลทราย D มีการใช้ปริมาณไอน้ำในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยเทียบกับอ้อย 1 ตัน รองลงมาได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย J และโรงงานน้ำตาลทราย I ตามลำดับ นั่นไม่ได้หมายความว่า โรงงานน้ำตาลที่ใช้ปริมาณไอน้ำน้อยที่สุดจะเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เนื่องจากปริมาณการใช้ไอน้ำมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในแต่ละฤดูกาลซึ่งแต่ละโรงงานมีปริมาณไม่เท่ากัน สิ่งเจือปนมากับอ้อยและประสิทธิภาพของชุดลูกหีบ โดยปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่วัดเทียบกับค่าอินพุท (Input)
รูปภาพที่ 4 แสดงการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิตต่อตันน้ำตาล
จากรูปภาพที่ 4 จะเห็นว่าโรงงานน้ำตาลทราย A มีการใช้ปริมาณไอน้ำในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยเทียบกับน้ำตาล 1 ตัน รองลงมาได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย B และโรงงานน้ำตาลทราย D ตามลำดับ นั่นหมายความว่า โรงงานน้ำตาลที่ใช้ปริมาณไอน้ำในกระบวนการผลิตเทียบกับน้ำตาล 1 ตัน น้อยที่สุดเป็นโรงงานที่มีการใช้พลังงานไอน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่วัดเทียบกับค่าเอาท์พุท (Output)
รูปภาพที่ 5 แสดงการใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตต่อตันอ้อย
จากรูปภาพที่ 5 จะเห็นว่าโรงงานน้ำตาลทราย F มีการใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยเทียบกับอ้อย 1 ตัน รองลงมาได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย E และโรงงานน้ำตาลทราย A ตามลำดับ นั่นหมายความว่า โรงงานน้ำตาลที่ใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุดจะเป็นโรงงานมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำตาลต่ำที่สุด โดยปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่วัดเทียบกับค่าอินพุท (Input)
รูปภาพที่ 6 แสดงการใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตต่อตันน้ำตาล
จากรูปภาพที่ 6 จะเห็นว่าโรงงานน้ำตาลทราย E มีการใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยเทียบกับน้ำตาล 1 ตัน รองลงมาได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย F และโรงงาน น้ำตาลทราย D ตามลำดับ ซึ่งนั่นหมายความว่า โรงงานน้ำตาลที่ใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุดจะเป็นโรงงานมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำตาลต่ำที่สุด โดยปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่วัดเทียบกับค่าเอาท์พุท
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าปริมาณต่างๆที่แสดงเป็นปริมาณที่วัดทั้งทางด้านอินพุทและเอาท์พุทของกระบวนการผลิต ซึ่งมีทั้งหมด 4 ปริมาณด้วยกัน ทางคณะผู้วิจัยมีความเห็นร่วมกันว่าในการที่จะเลือกปริมาณใดเป็นตัววัดประสิทธิภาพทางด้านการใช้พลังงานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูว่าปริมาณนั้นมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพหรือต้นทุนในกระบวนการผลิตจริงๆ ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยจึงเห็นว่าปริมาณที่จะสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการใช้พลังงานและต้นทุนในการผลิตมากที่สุด คือ ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิตซึ่งเลือกปริมาณเทียบกับเอาท์พุท เป็นปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิตต่อน้ำตาล 1 ตัน ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าโรงงานน้ำตาล 3 อันดับแรกที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย E ซึ่งมีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 96 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตัน โรงงานน้ำตาลทราย F มีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 105.5 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตันและโรงงานน้ำตาลทราย D มีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 156 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตัน ตามลำดับ
6. สรุปผลการวิจัย
ในการหาค่าดัชนีการวัดประสิทธิภาพทางด้านการใช้พลังงานจากทั้งหมด 4 ค่าดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า คณะผู้วิจัยเลือกปริมาณที่มีผลต่อประสิทธิภาพหรือต้นทุนในกระบวนการผลิตมากที่สุด คือ ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิตเทียบกับเอาท์พุท (Output) ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาลได้ 1 ตัน เนื่องจากเป็นการวัดการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายในกระบวนการผลิตที่ได้และสาเหตุที่เลือกวัดที่พลังงานไฟฟ้าไม่ได้เลือกไอน้ำ เนื่องจากปริมาณการใช้ไอน้ำมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในแต่ละฤดูกาลซึ่งแต่ละโรงงานมีปริมาณไม่เท่ากัน สิ่งเจือปนมากับอ้อยและประสิทธิภาพของชุดลูกหีบนอกจากนั้นไอน้ำยังเป็นอินพุทที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้นตัววัดพลังงานไฟฟ้าต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตันจึงเป็นตัววัดที่เหมาะสม ดังแสดงในตารางที่ 1
โดยจากข้อมูลโรงงานตัวอย่างทั้ง 10 โรงงาน กำหนดให้โรงงานที่มีการใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิตน้อยที่สุดมีน้ำหนักคะแนน 100% และโรงงานที่มีการใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิตมากที่สุดมีน้ำหนักคะแนน 0 % และโรงงานอื่นๆ จะคิดเทียบอัตราส่วนโดยใช้สูตรดังนี้
ร้อยละของการใช้กำลังไฟฟ้าในกระบวนการผลิต =
(ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด – ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าของโรงงาน) * 100
(ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด – ปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าต่ำสุด)
ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าโรงงานน้ำตาล 3 อันดับแรกที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพได้แก่ โรงงานน้ำตาลทราย E ซึ่งมีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 96 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตันซึ่งเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่สุด (Best Practice) โรงงานน้ำตาลทราย F มีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 105.5 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตันหรือร้อยละ 93 เทียบกับโรงงานที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่สุดและโรงงานน้ำตาลทราย D มีปริมาณการใช้กำลังงานไฟฟ้า 156 หน่วยต่อการผลิตน้ำตาล 1 ตันหรือร้อยละ 58.33 เทียบกับโรงงานที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่สุด ตามลำดับ
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานของโรงงานกลุ่มตัวอย่าง
จากข้อมูลดังกล่าวแต่ละโรงงานสามารถเปรียบเทียบเพื่อประเมินตนเองว่ามีการใช้พลังงานอยู่ในระดับใดกับค่ามาตรฐาน เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นค่าดัชนีการใช้พลังงานจึงมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามและควบคุมการใช้พลังงานและสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการการจัดการผลิตของโรงงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันในอนาคตต่อไป
7. ข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาผู้วิจัยขอยกตัวอย่างการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตโดยการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรของชุดหีบอ้อยจากการใช้ไอน้ำมาเป็นชุดหีบที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทน จากรูปภาพที่ 7 แสดงชุดลูกหีบที่ใช้มอเตอร์พลังไอน้ำในการทำงาน ซึ่งทางโรงงานแห่งที่ได้มีการเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแทนดังแสดงในรูปภาพที่ 8 ซึ่งจะพบประโยชน์ดังนี้
- เพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดน้ำหวานจากกากอ้อยได้ดีกว่า และมีประสิทธิภาพคงที่ เนื่องจากแรงกระทำที่ได้จากมอเตอร์ไอน้ำนั้นไม่คงที่
- ลดการซ่อมบำรุง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีท่อไอน้ำ และชุดเฟืองทดขนาดใหญ่ เนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถปรับความเร็วและแรงกระทำได้โดยตรง
- ลดความสูญเสียไอน้ำในการส่งผ่านท่อในโรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไอน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยลดระยะทางจากแห่ลงกำเนิดไอน้ำถึงเครื่องปั่นไฟฟ้า
รูปภาพที่ 7 แสดงมอเตอร์ที่ใช้พลังงานไอน้ำในการสกัดน้ำหวานจากอ้อยด้วยลูกหีบ
รูปภาพที่ 8 แสดงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทดแทนมอเตอร์พลังไอน้ำ
ที่มา : “โครงการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลิตและการจัดการระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล” โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกับศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
.
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
--------------------------------
ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่