CT52 แนวทางของการจัดการโซ่อุปทาน และการวางแผนองค์กร สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
บทความนี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีพนักงานน้อยกว่า 250 คน เพื่อที่จะวางระบบการวางแผนขององค์กร ตามข้อจำกัดของความสัมพันธ์ในโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
ในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นการบริหารกิจกรรมของการจัดซื้อและการควบคุมการผลิต ที่เชื่อมโยงระหว่างซัพพลายเออร์และผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งสามารถแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในโซ่อุปทานที่ต้องการจะส่งมอบวัตถุดิบและสินค้าระหว่างกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าคนสุดท้าย ความสัมพันธ์นี้จำเป็นที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อาทิ การพยากรณ์ของยอดขาย การวางแผนการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นทั้งโซ่อุปทาน
โดยปกติแล้ววิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการจ้างแรงงาน 60% และมี GNP มากกว่า 50 % โดยที่โซ่อุปทานของการผลิตจะมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ในขณะที่ผู้ประกอบการ SME เป็นผู้สนับสนุน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ SME จะเน้นไปที่ผลตอบแทนทางการเงินหรือยอดขายในระยะสั้นมากกว่าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการโซ่อุปทานในระยะยาว ดังนั้นความอยู่รอดของ SME จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาระบบการควบคุมองค์กรของตนให้ตรงกับกับความต้องการของลูกค้าและโซ่อุปทานมากกว่าที่จะมุ่งเน้นการผลิตสำหรับการสั่งซื้อในครั้งถัดไป
ความสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายในโซ่อุปทาน
การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้เป็นรูปแบบของบริษัท ก.แข่งขันกับบริษัท ข. อีกต่อไป แต่จะเป็นการแข่งขันระหว่างโซ่อุปทานของบริษัท ก. แข่งขันกับโซ่อุปทานของบริษัท ข. ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มาร่วมมือกัน ทำให้บริษัทคู่แข่งจะแข่งขันได้ยากลำบากมากขึ้น บริษัทที่สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างลูกค้าและซัพพลายเออร์ได้อย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการดำเนินการดีขึ้นอย่างชัดเจน
ระดับความสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 1 ซึ่งสรุปขอบเขตของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของสมาชิกในโซ่อุปทานกับระดับความสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายในโซ่อุปทาน
ที่มา: หนังสือ Operations Management, 2nd Edition ของ Slack, N., Chambers, S., Harland, C., Harrison, A. และ Johnston, R. ปี 1998
แผนภาพที่ 1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของสมาชิกในโซ่อุปทานกับระดับความสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายในโซ่อุปทาน
การวางแผนองค์กรระยะสั้นสำหรับ SMEs
กิจกรรมการวางแผนองค์กรของซัพพลายเออร์ เกิดขึ้นจากความต้องการสินค้าของลูกค้า ความเชื่อมโยงระหว่างความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตกับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองลูกค้า แม้ว่า SMEs ส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ (order-driven) ทำให้การวางแผนความต้องการวัตถุดิบไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการวางแผนการผลิตรวม (Aggregate production plan) ถูกนำมาใช้โดยกำหนดปริมาณของการผลิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
การควบคุมกิจกรรมการผลิต (Production activity control: PAC) ของการวางแผนปฎิบัติการและส่งคำสั่งการผลิตให้กับทางโรงงานและซัพพลายเออร์จะเป็นการดำเนินงานในรายละเอียดที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ PAC จะเป็นตัวติดตามผลการปฎิบัติการระดับปฎิบัติการ และสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งกิจกรรม PAC นี้สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 กิจกรรม PAC
ที่มา: จากตำรา Shop Floor Control โดย Melnyk, S., Carter, P., Dilts, D. และ Lyth, D. ปี 1985
การผลิตของผู้ประกอบการ SMEs
ความสัมพันธ์ระยะยาวขององค์กรในโซ่อุปทานจะถูกเพิกเฉยจาก SMEs ซึ่งมุ่งเน้นยอดขายและผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้น แม้ว่า SMEs จะมีความสามารถในการผลิตมาก แต่มักจะขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เช่น เงินทุน หรือบุคลากรที่มีทักษะ นอกจากนี้ SMEs ได้รับคำสั่งซื้อที่มาจากลูกค้าลำดับถัดไปในโซ่อุปทานซึ่งอาจไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าคนสุดท้ายในโซ่อุปทาน ดังนั้นการวางแผนการปฎิบัติงานของ SMEs ในบางครั้งจะขาดความชัดเจน และมีความถี่ในการเปลี่ยนความต้องการในระยะสั้นสูง ซึ่งทำให้การสร้างความสมดุลในโซ่อุปทานนั้นทำได้ยาก การวางแผนในการปฎิบัติการของ SMEs ที่สำคัญสามารถสรุปได้ ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 กิจกรรมการวางแผนการปฎิบัติการของ SMEs ที่สำคัญ
ที่มา: จากงานวิจัยเรื่อง “Internal supply chain planning determinants in small and medium-sized manufacturers” ของ Huin, S., Luong, L. และ Abhary, K ในวารสาร International Journal of Physical Distribution and Logistics Management เล่มที่ 32 ฉบับที่ 9 หน้า 771-782
แนวทางของการจัดการโซ่อุปทาน และการวางแผนองค์กร
แนวทางของการจัดการโซ่อุปทานและการวางแผนองค์กรของ SMEs ที่มีประสิทธิภาพสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 2
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “A composite framework of supply chain management and enterprise planning for small and medium-sized manufacturing enterprises” โดย Neil Towers และ Bernard Burnes ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 5 ปี 2008 หน้า 349-355.
แผนภาพที่ 2 แนวทางของการจัดการโซ่อุปทานและการวางแผนองค์กรของ SMEs
จากรูปที่ 2 ประเด็นที่สำคัญสำหรับ SMEs ได้แก่
- ทางซ้ายมือ หมายถึง องค์ประกอบของกิจกรรมของ SMEs ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ
- ทางขวามือ แสดงถึงองค์ประกอบที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการควบคุมกิจกรรมในการผลิต ของ SMEs ซึ่งรวมถึงหลักการของการวางแผนและควบคุมการผลิต
- ในส่วนกลาง แสดงถึงความต้องการของการวางแผนและการปฎิบัติการที่ส่งผลต่อ องค์ประกอบทั้ง 2 ด้าน
แนวทางการพัฒนาดังกล่าวได้นำจุดเด่นของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในโซ่อุปทานและความสามารถในการผลิตของ SMEs มารวมกันโดยที่ไม่กระทบต่อการดำเนินการปกติที่ได้ทำอยู่ นอกจากนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความร่วมมือระหว่างกัน จะช่วยขจัดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในการผลิตได้
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “A composite framework of supply chain management and enterprise planning for small and medium-sized manufacturing enterprises” โดย Neil Towers และ Bernard Burnes ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 5 ปี 2008 หน้า 349-355.
ดูบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมที่ เอกสารดาวน์โหลด
.
สนใจคู่มือ ดาวน์โหลดได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง
--------------------------------
ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่