การให้บริการโลจิสติกส์สำหรับผู้ให้บริการจากภายนอก (LSP, 3PL)
การให้บริการโลจิสติกส์สำหรับผู้ให้บริการจากภายนอก (LSP, 3PL) ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ จากรูปของ กิจกรรมของโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ตั้งแต่ผู้ขายปัจจัยการผลิต (Suppliers) ผู้ซื้อ (Buyer) โดยมีกิจกรรมหลักในโลจิสติกส์ คือการขนส่งทั้งทางบก (รถไฟ และ รถยนต์) ทางเรือและทางอากาศ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และผู้ให้บริการจัดเก็บสินค้า (Storage)
ส่วนในประเทศไทยมีขอบเขตของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ซึ่งในภาคเอกชนประกอบด้วย ผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้ผลิตหรือโรงงานแปรรูป (Factory) ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จนถึงผู้บริโภค สถาบันการเงิน ผู้รับประกันภัย ส่วนภาครัฐบาลจะประกอบด้วย กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมศุลกากร โดยมีปัจจัยแวดล้อมสนับสนุนคือ กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ บุคลากรในงานโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานคือ ท่าเรือ สนามบิน รางรถไฟ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์ที่ขนส่งผ่านทั้ง ทางรถไฟ ทางรถยนต์ ทางน้ำ และทางเส้นท่อ ทั้งในระดับพื้นที่ภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมโลจิสติกส์หลักได้แก่ การจัดซื้อ การผลิต การจัดส่ง การจัดการสินค้าคงคลัง และกิจกรรมอื่นๆ ทั้ง 15 กิจกรรม โดยการดำเนินงานจะเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน การประกันภัย ซึ่งทุกกิจกรรมจะดำเนินการผ่านกระบวนการในโลจิสติกส์ ในปัจจุบันจึงเกิดรูปแบบธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์ขึ้น เรียกว่า ผู้ให้บริการด้าน
โลจิสติกส์จากภายนอก (The Third Party Logistics Services Provider : 3PL หรือ LSP)
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากภายนอก (Third Party Logistics :3PL) การให้บริการแบบนี้ส่วนมากบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการมักจะเป็นเจ้าของยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการขนส่งเอง แต่จะใช้ระบบพันธมิตรทางการค้ากับผู้ขนส่งและจะประสานงานกับผู้ขนส่งที่เหมาะสม ในการให้บริการการขนส่ง ซึ่งลักษณะการบริการแบบนี้มีดังนี้
- ผู้ให้บริการขนส่ง (Transportation brokers) บริษัทที่ให้บริการขนส่งทางเรือ และผู้รับขน (Carrier) โดยวางแผนและประสานงานการขนส่งสินค้า
- ผู้รับจองระวาง (Freight forwarders) องค์กรที่รวบรวมการขนส่งขนาดเล็กจากผู้ขายหลายราย จากหลายสถานที่ เพื่อให้ขนาดขนส่งใหญ่ขึ้นเพื่อลดต้นทุน
- สมาคมเพื่อขนส่งทางเรือ (Shippers’ association) สมาคมที่ให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมการขนส่งขนาดเล็ก ให้เป็นการขนส่งเต็มคันรถสำหรับบริษัทในสมาชิก
- บุคคลที่ 3 (Third parties) บริษัทที่ให้บริการประสานงานและบริหารงานด้านโลจิสติกส์ให้กับลูกค้า บางบริษัทขนาดใหญ่ได้ว่างจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ทำกิจกรรมทางโลจิสติกส์ให้บริษัทผู้ให้บริการบุคคลที่ 3 เป็นผู้บริหารงานแทน ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานในสิ่งที่ตนเองถนัด
โดยกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด ที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Unit) ในระบบเศรษฐกิจ สามารถจำแนกการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวตามขอบเขตการดำเนินธุรกิจของผุ้ประกอบการได้ 2 รูปแบบ คือ
- กิจกรรมโลจิสติกส์ซึ่งผู้ประกอบการดำเนินการเองในองค์กร (In-house Logistics)
- กิจกรรมโลจิสติกส์ที่ผู้ประกอบการได้ว่าจ้างองค์กรอื่นมาดำเนินการให้ (Outsourcing)
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์เองทั้งหมด หรือเลือกดำเนินการเพียงบางส่วนก็ได้ เนื่องจากในปัจจุบันสภาวะการแข่งขันเป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งพัฒนาความสามารถหลัก (Core Competency) และมีความต้องการพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้นกว่าในอดีต จึงมีความนิยมในการใช้บริการจากผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ (Logistics Service Provider : 3PL) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่เกิดจากการให้บริการด้านโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการทั้งระบบ เรียกว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Industry)
------------------------------------------------------------------
ที่มา
เอกสาร สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 2558 www.logistics.go.th
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------