lm การจัดการโลจิสติกส์ในการผลิต (production logistics management)
ระบบการจัดการโลจิสติกส์การผลิต คือ กระบวนการในการวางแผน ดำเนินการ และควบคุมประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการไหลและการจัดเก็บวัตถุดิบ สินค้าคงคลังในกระบวนการผลิตสินค้าสำเร็จรูป และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่มีการใช้งาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ในที่นี้หมายถึงการนำสินค้าจากแหล่งที่ถูกต้อง ในรูปแบบ จังหวะเวลา คุณภาพ ปริมาณที่ถูกต้องด้วยต้นทุนที่เหมาะสมไปยัง สถานที่ที่ถูกต้อง (ที่มา: Council of Logistics Management) ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมมีระบบการผลิตหลายรูปแบบแต่ที่พบกันมากที่สุด คือ ระบบการผลิตแบบผลิตเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลัง (Make to Stock) และระบบการผลิตแบบผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Make to Order)
- อุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการผลิตแบบผลิตเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลัง (Make to Stock) ผู้ผลิตจะทำการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) ว่ามีความต้องการสินค้าในอนาคตอยู่เท่าใด ต้องการสินค้าชนิดใดบ้างหลังจากนั้นก็ทำการผลิตแล้วส่งไปจัดเก็บที่คลังสินค้า เพื่อส่งต่อไปยังผู้แทนจำหน่ายอีกทีหนึ่ง ระบบการผลิตแบบ Make to Stock จำเป็นต้องมีการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าอย่างมีระบบมีความแม่นยำและรวดเร็ว ปัจจุบันเหมาะกับสินค้าที่สามารถพยากรณ์ความต้องการได้ค่อนข้างแน่นอนและผู้ผลิตมีผู้แทนจำหน่ายที่เป็นผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก ได้แก่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในครัวเรือนซึ่งผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่ำสุด
- อุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการผลิตแบบผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Make to Order) ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าและเลือกส่วนประกอบหรือวัตถุดิบตามที่ต้องการ คำสั่งซื้อนั้นจะถูกส่งไปที่ผู้ผลิต ผู้ผลิตดำเนินการผลิตและแปรรูปสินค้าและจัดส่งตามที่ลูกค้าต้องการภายในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นจึงสามารถส่งสินค้าตรงไปยังลูกค้าได้โดยตรง ทำให้ลดต้นทุนในการจัดเก็บและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้แทนจำหน่าย นอกจากนั้นจะไม่ประสบกับปัญหาที่ผลิตสินค้ามาแล้วขายไม่ได้ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนที่ต่ำลงโรงงานอุตสาหกรรมพลาสติกที่อยู่ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในองค์กรสูง เพื่อให้สามารถตอบสนองกับคำสั่งซื้อของลูกค้า (Customer Order) ได้ และต้องมีการจัดการวัสดุ (Materials Management) ที่ดี
รูปแบบจำลองการจัดการโลจิสติกส์สำหรับระบบการผลิต
จากรูป ซึ่งในแบบจำลองแสดงการไหลเวียนของข้อมูลสารสนเทศ (Information Flow) ในส่วนบนของแบบจำลอง และแสดงการเคลื่อนย้ายและขนถ่ายวัสดุในโลจิสติกส์การผลิต (Materials Logistics Flow) ในส่วนล่างของแบบจำลอง ส่วนที่สำคัญของกระบวนการวางแผนในแบบจำลองการจัดการโลจิสติกส์ ต้องการความแม่นยำและความถูกต้องของการพยากรณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้า (Demand Forecasting) เป็นสำคัญ เนื่องจากการพยากรณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้ามีวิธีการคำนวณหลายวิธี ดังนั้นจึงควรนำซอฟแวร์สถิติที่ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการสินค้า (Demand Forecasting Statistical Software) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทต่อไป การพยากรณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้าเป็นกระบวนการวางแผนในขั้นตอนแรก ซึ่งหากเกิดการพยากรณ์ที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนไปจากยอดขายจริงแล้ว การนำข้อมูลการพยากรณ์ยอดขายไปใช้ในการวางแผนในขั้นตอนต่อไป ในส่วนของการวางแผนเพื่อผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้า (Supply Plan) ก็อาจเกิดความผิดพลาดตามไปด้วย ส่งผลต่อตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เช่น สินค้าที่ลูกค้าต้องการไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า และสินค้าบางชนิดมีการผลิตมากเกินความจำเป็นทำให้ต้นทุนสินค้าคงคลังสูง
.
ที่มา
-
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------