Agile and Responsive Supply Chain Strategies on a Global Level / ความคล่องตัวและสามารถตอบสนอง ในยุทธศาสตร์ซัพพลายเชนในระดับโลก
ความคล่องตัวและสามารถตอบสนอง ในยุทธศาสตร์ซัพพลายเชนในระดับโลก (Agile and Responsive Supply Chain Strategies on a Global Level) ปัจจุบันในตลาดการค้าโลกองค์กรส่วนใหญ่จะต้องพบกับความท้าทายที่เกิดขึ้น จากการแข่งขันด้านการค้าที่รุนแรงไร้ขอบเขตพรมแดน การค้าขายในระดับระหว่างประเทศมีมากขึ้น คู่แข่งไม่ได้มีเพียงในประเทศของตนเหมือนเดิม แต่กับมีคู่แข่งที่มาจากทั่วทั้งโลก ผู้ทำธุรกิจจึงควรจะต้องปรับปรุงตัวเองให้สามารถทำการตอบสนองต่อความต้องการของ ลูกค้าที่มีความผันผวนมากขึ้น มีความต้องการและคาดหวังในสินค้าและบริการในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นไม่มีขีดจำกัด และยังมีปัญหาวัฏจักรของผลิตภัณฑ์สินค้าและเทคโนโลยีที่มีเวลาสั้นลง จำเป็นที่ผู้ผลิตต้องคิดแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อนำมารวมกับแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในสินค้าบริการ การมุ่งแข่งขันในการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
จากการก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น สินค้ามีราคาที่ลดลง นักธุรกิจยุคใหม่จึงจำเป็นต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีในตลาดได้ดีพอ วิธีที่สำคัญอีกอันที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้คือ การกำหนดกลยุทธในการบริหารโซ่อุปทาน (Supply Chain Strategies) เน้นให้มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้เสมอ แต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีพอ และมีมาตรฐานในระดับสากลในโลก
บริษัทชั้นนำของโลก ส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างโซ่อุปทานของตน ให้ตอบสนองการทำงานและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่มีมักมีอย่างกะทันหันรวดเร็วและอย่างคาดไม่ถึง ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่จะไม่มียุทธศาสตร์ในด้านนี้ จึงมักจะต้องรับมือกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงโดยจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น หลายบริษัทพบว่าหากสามารถทำให้ธุรกิจของตนเองมีมตารฐานมีขนาดเล็กไม่ซับซ้อน มีความคล่องตัวแต่ต้น จะช่วยตอบสนองการรับมือปัญหาที่เกิดจากเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าปกติทั่วไป
ความว่องไวและการตอบสนอง (Agile and Responsive) มีพื้นฐานมาจากระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น (Flexible Manufacturing Systems, FMS) โดยเน้นการผลิตที่ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนหรือความยืดหยุ่นในการผลิต ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงงานอย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลา และมุ่งให้มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือปริมาณได้ดีมากขึ้น
ความว่องไว (Agile) หมายถึง การปรับเปลี่ยนขนาดให้มีความคล่องตัว กระชับสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย ในบางครั้งมีการนำไปใช้สับสนกับคำว่า การลดส่วนที่ไม่จำเป็นหรือที่เรามักเรียกกันว่าลีน (lean) ซึ่งในสองคำนี้แม้จะเน้นการลดเหมือนกัน แต่จะมีบางเรื่องที่แตกต่างกัน (lean) ดังนั้นบางครั้งการที่บริษัทดำเนินงานในเรื่องลีนจะทำให้มีการลดส่วนที่ไม่จำเป็นในการผลิตลดได้ เกิดความสามารถในการผลิตที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้แปลว่าบริษัทนั้นมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนองค์กรได้ในเรื่องอื่น เพราะหากสังเกตดูจะพบว่าลีนนั้นยังมีปัญหาในบางเรื่องเช่น ลีนต้องมีการวางแผนในการผลิตและการจัดส่งของที่ต้องกำหนดกันไว้เป็นระยะยาว การผลิตจะต้องเกิดจากการคาดการณ์ว่าลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้า สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์มาตรฐานที่ต้องมีการผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ตอบสนองความต้องการผู้ผลิตยุคใหม่ ที่ต้องตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ลูกค้ามีความต้องการในส่วนประกอบต่างๆ มากมายเพิ่มขึ้น เกิดเป็นปัจจัยที่มีความผันแปรและความไม่แน่นอนสูงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน
การลดส่วนที่ไม่จำเป็น (lean) หมายถึง การทำอะไรให้ได้ผลงานที่มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ในการทำธุรกิจมักพบใช้ในแนวทางการผลิตแบบทันเวลา (Just in Time, JIT) มีการใช้มานานเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว
การตอบสนอง (Responsive) หมายถึง ความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ต้องเน้นให้มีความรวจเร็ว ตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการได้ดีมีประสิทธิภาพ โดยใช้ค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด จึงปรับความว่องไวในการตอบสนองตลอดโซ่อุปทานต้นแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เน้นการขจัดอุปสรรคที่จะทำให้การตอบสนองไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์กรหรือด้านเทคนิค
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวอย่างที่พยายามใช้แนวคิดดังกล่าว มาใช้ในการปรับองค์กรของตนให้มีความคล่องตัวเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีขบวนการที่เล็กลงกระทัดรัด มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนการทำงาน การลดระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีระยะเวลาสั้นลง อออกเป็นผลิตภัณท์ใหม่ได้เร็วขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างซัพพลายเออร์และมีการแลกเปลี่ยนการทำงานเพื่อพัฒนาการผลิตร่วมกัน ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายได้ดีขึ้น โดยยังลดความซับซ้อนในการผลิตลงไปด้วย การหาความซ้ำซ้อนในการออกแบบ ทำให้เริ่มมีการใช้ชิ้นส่วนที่มีมาตรฐานมากขึ้น อาจมีการปรับการทำงานบางส่วนบ้างตามความต้องการของลูกค้า วิธีนี้จะช่วยการลดความซับซ้อนในการผลิตและการจัดการสินค้าคงคลังโดยรวมทำให้ประหยัดได้มาก
----------------------------------------