ปรากฏการณ์แส้ม้า (Bullwhip Effect)
ปรากฏการณ์แส้ม้า (Bullwhip Effect) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดการผันผวนในการบริหารงานโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทำให้มีปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือสินค้าเหลือล้นตลาด เหตุผลที่มาของปัญหาก็เพราะการที่ผู้ผลิตและผู้ขายไม่สามารถคาดเดาหรือรู้ในความต้องการที่ถูกต้องของลูกค้า หรือเกิดจากการที่ความต้องการของลูกค้ามีความแปรปรวนหรือผันผวน
สาเหตุที่เรียก ปรากฏการณ์แส้ม้า เทียบกับเมื่อเราสะบัดแส้จะลักษณะเป็นรูปการเหวี่ยงของแส้เหมือนลูกคลื่น ซึ่งคลื่นที่ติดกับมือจับแส้จะเล็ก และค่อยใหญ่ขึ้นเมื่อไกลออกจากมือจับ จึงเทียบกับความแปรปรวนของความต้องการของลูกค้าที่ยิ่งไกล ก็ยิ่งมีการแกว่งมากขึ้น ในกรณีที่โซ่อุปทาน (Supply Chain) มีหลายขั้นตอน มีสายโซ่อุปทานที่ยิ่งยาวก็ยิ่งจะมีปัญหาในด้านนี้มากตามขึ้นไปด้วย สาเหตุที่เกิดปัญหาสินค้าขาดหรือเกินจะเกิดจากการที่แต่ละหน่วยงานในโซ่อุปทาน ต่างวางแผนงานและต่างตัดสินใจ ไม่มีการทำงานประสานกันเป็นทีมที่ดี และการที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันได้ โดยเฉพาะข้อมูลความต้องการของลูกค้า ที่ยังไม่สามารถไหลมาจากปลายทางถึงต้นทางในองค์กรได้
ปัจจัยที่ส่งผลกับปรากฏการณ์แส้ม้า ประกอบด้วย
1. การประมาณการความต้องการ (Demand Forecasting) การประมาณการความต้องการ ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของสินค้า มีความสำคัญก็เพราะถ้าตลอดทาง เพื่อให้รู้ความต้องการของลูกค้า นำมาทำการคาดการณ์ว่า ลูกค้าต้องการเท่าไหร่ จะลดความผันผวนลง
2. การปันส่วนสินค้า (Product Sharing) เมื่อมีความต้องการสินค้าเข้ามามากกว่ากำลังการผลิต หรือความสามารถการผลิตที่เรามี ซึ่งยอดซื้อที่เรารับเข้ามาจะบิดเบียนความเป็นจริงและเมื่อเราเอาข้อมูลการสั่งซื้อชุดนี้ เพื่อไปเตรียมการสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ อาจจะผิดพลาดได้ เพราะข้อมูลสั่งซื้อที่ใช้ ไม่ได้มาจากความเป็นจริง
3. การจัดชุดคำสั่งซื้อ (Order Batching) บางครั้งลูกค้าสั่งของเข้ามา ซึ่งยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่เราจะดำเนินการส่งของ เราจึงกักตุนสินค้าไว้ ไม่ทำการส่ง โดยไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าของยังขาดอยู่ จึงอาจจะมีการสั่งของซ้ำ
4. การตั้งราคาสินค้า (Product Pricing) เนื่องจากการเลือกสินค้าในปัจจุบัน ลูกค้าอาจจะยังไม่ซื้อสินค้านั้นโดยทันที ถ้าลูกค้าไม่มั่นใจว่า สินค้าชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ถูกที่สุด ที่ไหนๆ ก็ไม่ถูกไปกว่านี้อีกแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่าความต้องการของลูกค้าอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง เพราะว่าลูกค้าจะรอเพื่อให้ได้ของที่ถูกที่สุด เพราะฉะนั้นปริมาณสินค้าที่อยู่บนชั้นวางสินค้า อาจไม่ได้สะท้อนภาพความต้องการที่แท้จริง
5. การวัดผลการดำเนินงานของการทำงาน ในกระบวนการการบริหารการจัดการทั้งหมดตั้งแต่สั่งซื้อสินค้า ผลิต และส่งถึงผู้บริโภค ถ้าแต่ละกระบวนการแย่งกันทำให้เกิด Performance ที่ดีจะกลายเป็นดีใครดีมัน มันไม่ทำให้เกิด Performance ที่เป็นองค์รวม แต่ละหน่วยงานก็จะมองแค่ส่วนงานของเขา ทำให้แค่ส่วนงานของตนเองดีอย่างเดียว ทำให้ข้อมูลบิดเบือนจากความเป็นจริง
สรุป การแก้ไขปัญหาปรากฏการณ์แส้ม้าที่ดีคือ ควรที่ทั้งองค์กรจะต้องมีการประสานวางแผนการทำงานและร่วมกันตัดสินใจในการผลิต ควรทำงานประสานกันเป็นทีม ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันให้มากที่สุด มีการจัดการสารสนเทศ (INFORMATION MANAGEMENT) ที่สามารถให้ข้อมูลความต้องการของลูกค้า โดยข้อมูลควรจะมีการไหลต่อเนื่องจากปลายน้ำคือลูกค้า มาจนถึงผู้ผลิตต้นน้ำคือชัพพลายเออร์
------------------------------------------