Purchase Portfolio Matrix
Purchase Portfolio Matrix เป็นเครื่องมือที่ได้รับความสนใจอย่างมากในการวางแผนกลยุทธ์ในด้านต่างๆ เริ่มแรกประมาณ ปี 1950 Portfolio Model ถูกใช้ในการวิเคราะห์ในด้านการเงินการลงทุน โดยการสร้างความสมดุลระหว่าง ผลตอบแทนที่จะได้รับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต่อมาในปี 1970–1980 Portfolio Model ได้ถูกพัฒนาไปใช้กับการบริหารงานและการวางแผนกลยุทธ์ด้านต่างๆ อย่างมากมาย แนวคิดพื้นฐานของ Portfolio Model คือ การวิเคราะห์ปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยการแบ่งกลุ่มวัตถุหรือเป้าหมายที่ต้องการศึกษาโดยมองใน 2 มิติ และกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการในแต่ละกลุ่มวัตถุหรือเป้าหมายนั้น
Purchase Portfolio Matrix ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการในด้านการตลาดและการจัดซื้ออย่างแพร่หลาย ในปี 1983 Kraljic ได้พัฒนา Purchase Portfolio Matrix ในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ส่งมอบ โดยการแบ่งกลุ่มผู้ส่งมอบบนพื้นฐานของอำนาจในการซื้อ ได้พัฒนา Portfolio Model ในการจัดกลุ่มสินค้าและนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของผู้ส่งมอบ โดยมีพื้นฐานจากอำนาจในการจัดซื้อของผู้ซื้อ ซึ่ง Kraljic พัฒนา Portfolio Model โดยมองใน 2 มิติ ได้แก่
- มิติด้านผลกระทบต่อผลกำไร (Profit Impact)
- มิติด้านความเสี่ยงในการจัดหา (Supply Risk)
Purchase Portfolio Matrix ถูกจัดทำขึ้นโดยมีพื้นฐานความคิดในการเพิ่มอำนาจจัดซื้อให้แก่ผู้ซื้อ วิธีการนี้อยู่ภายใต้สันนิษฐานว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายคือ ความเข้มแข็งของบริษัทผู้ซื้อ จำนวนผู้ส่งมอบที่มีความสามารถ และความต้องการในการขาย จากแนวคิดดังกล่าว สามารถแบ่งกลุ่มวัตถุดิบออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ
- Non-Critical
- Leverage
- Bottleneck
- Strategic
ดังนั้นหากพิจารณาแล้วว่าวัตถุดิบบางรายการของบริษัทอยู่ในกลุ่ม Strategic Items หมายถึงว่า บริษัทผู้ซื้อมีความเข้มแข็งมีอำนาจในการต่อรองสูง แต่ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ส่งมอบที่สามารถจัดส่งได้มีน้อยราย การบริหารการจัดซื้อควรจะต้องใช้จุดแข็งของบริษัท ในการชักนำผู้ส่งมอบเข้ามามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ส่งมอบได้มั่นใจถึงการส่งมอบวัตถุดิบในระยะยาว เรียกว่า ร่วมหัวจมท้ายกันก็ว่าได้