รูปแบบโครงสร้างซัพพลายเชนแบบ Value Chain
รูปแบบโครงสร้างแบบ Value Chain เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ของการวิเคราะห์โครงสร้างที่แสดงความสัมพันธ์ของส่วนประกอบของการจัดการของการผลิตและการจัดการขององค์กร
รูปแบบโครงสร้างแบบ Value Chain
ซึ่งแสดงให้เป็นความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันทั้งกระบวนการภายในและกระบวนการภายนอกที่กระทบ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกันในรูปแบบของ ห่วงโซ่แห่งกิจกรรม ที่มุ่งเน้นด้านคุณค่า (Value)หรือ การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain Analysis)
โดยที่ประกอบไปด้วยกลุ่มของกิจกรรมพื้นฐาน เช่น โลจิสติกส์ขาเข้า การดำเนินงานโลจิสติกส์ขาออก การตลาดและการขายและการบริหาร และกลุ่มของกิจกรรมสนับสนุน เช่น โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การจัดการทรัพยากรบุคคล การพัฒนาเทคโนโลยี การจัดหา เป็นต้น การประยุกต์ใช้รูปแบบโครงสร้างแบบ Value Chain จะต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ Value Chain เพื่อการบริหารจัดการในระบบซัพพลายเชน
Value Chain Analysis โดย Michael E.Porter ที่เขียนไว้ในหนังสือ Competitive Advantage (1985) เป็นแนวคิดที่ช่วยในการทำความเข้าใจถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานปฏิบัติการว่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้องค์กรธุรกิจก่อกำเนิดคุณค่าให้แก่ลูกค้าอย่างไร โดยคุณค่าที่บริษัทสร้างขึ้นสามารถวัดได้โดยการพิจารณาว่าผู้บริโภคยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทมากน้อยเพียงใด Michael E. Porter มองธุรกิจว่าเป็น “ห่วงโซ่แห่งกิจกรรม” (Chain of Activities) ที่สร้างสรรค์คุณค่า (Value) ต่อเนื่องสัมพันธ์กันเหมือนกับห่วงโซ่เพื่อส่งมอบคุณค่าทั้งหมดให้กับลูกค้า โดยแต่ละกิจกรรมจะมีส่วนช่วยก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value added) เป็นช่วงๆ นับตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาจากผู้จำหน่าย เข้าสู่กิจกรรมทางด้านการผลิตจนกระทั่งผ่านออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และสิ้นสุดลงที่ผู้จัดจำหน่ายขายผลิตภัณฑ์นั้นถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย รวมทั้งการบริการหลังการขาย (After-sales service)
การวิเคราะห์ซัพพลายเชนแห่งคุณค่า คือ การวิเคราะห์กิจกรรมในวงจรการผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ควรกระทำเพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้าหรือบริการนั้นในมุมมองของผู้บริโภค โดยคุณค่าของสินค้าหรือบริการนั้นหมายถึง ราคาที่ไม่สูงจนเกินไปหรือการมีบริการที่ดีองค์ประกอบของ Value Chain Analysis
การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าเป็นการวิเคราะห์ถึงโครงสร้างงานภายในองค์การ เพื่อการกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ โดยแบ่งกิจกรรมภายในองค์การออกเป็น 2 ประเภท คือ กิจกรรมหลักหรือกิจกรรมพื้นฐาน (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities)
รูปรายละเอียดกิจกรรมของการวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่า
1. กิจกรรมหลักหรือกิจกรรมพื้นฐาน (Primary Activity) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.1 Inbound logistics คือ การขนส่งขาเข้า เป็นกิจกรรมในการจัดหาและนำวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตเข้าสู่กิจการ การเก็บรักษาและการจัดปัจจัยนำเข้า
1.2 Operations คือ การปฏิบัติการ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ต้องการเปลี่ยนปัจจัยการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (Final Product)
1.3 Marketing and Sales คือ การตลาดและการขาย กิจกรรมการตลาดและการขายของธุรกิจจะต้องเกี่ยวข้องกับ 4P’s ซึ่งประกอบด้วย Product (ผลิตภัณฑ์) Price (ราคา) Place (สถานที่จำหน่าย) Promotion (การส่งเสริมการตลาด)รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่าย (Channel of Distributions) โดยมุ่งที่ส่วนของตลาด ซึ่งธุรกิจควรกำหนดเป้าหมาย ตลอดจนความสลับซับซ้อนของกระบวนการผลิต
1.4 Services คือ การบริการ ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้า ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการสร้างคุณค่าของธุรกิจ
2. กิจกรรมสนับสนุน(Supporting Activities) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
2.1 Firm Infrastructure คือ โครงสร้างพื้นฐานขององค์การ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การเงิน การบัญชี กฎหมาย รัฐบาลระบบสารสนเทศ และการจัดการทั่วไป
2.2 Human Resource Management คือ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วยกิจกรรมการสรรหา คัดเลือก ฝึกอบรม พัฒนา และกำหนดจ่ายค่าตอบแทนทุกระดับของพนักงาน
2.3 Technology Development คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นกิจกรรมการสร้างคุณค่าขององค์กร ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการเพื่อให้เกิดคุณค่าในการจำหน่ายสินค้าและบริการไปยังลูกค้า
2.4 Procurement คือ การจัดหาทรัพยากร เป็นหน้าที่ในการซื้อปัจจัยการผลิตซึ่งประกอบด้วยวัตถุดิบ วัสดุสิ้นเปลือง และปัจจัยการผลิตอื่นๆที่ใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนอุปกรณ์ เครื่องจักร อาคาร ฯลฯ
การวิเคราะห์ซัพพลายเชนแห่งคุณค่า
การสร้าง Value Added นั้นเริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบ การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงการนำสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค โดยดูว่า Customer value นั้นเกิดจาก 3 แหล่ง คือ 1.กิจกรรมที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่าง 2.กิจกรรมที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง 3.กิจกรรมสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ประเภท Primary and Support Activities
การวิเคราะห์ซัพพลายเชนแห่งคุณค่า มีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. การวิเคราะห์กิจกรรม : ครั้งแรกระบุกิจกรรมที่คุณจะดำเนินการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
2. การวิเคราะห์คุณค่า : การวิเคราะห์คุณค่าของแต่ละกิจกรรมที่มีความจำเป็นในการดำเนินการและแนวทางของกระบวนการ วิธีการในการดำเนินการ เป็นต้น ที่จะทำให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อลูกค้าและการบริการ
3. การประเมินผลและการวางแผน : จะต้องประเมินมูลค่าการเปลี่ยนแปลง จากการเพิ่มคุณค่าลงในกระบวนการและในผลิตภัณฑ์หรือ บริการ
นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบของโครงสร้างซัพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่จะต้องนำมาเป็นส่วนที่สำคัญในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนซึ่งอาจจะใช้ในขั้นตอนของการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายในการจัดการเช่น การสร้างคุณค่า (Value Creation) ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า (Value Driven) และ Market/Value Driven ในระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญและเป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ในการออกแบบระบบของการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย
การสร้างคุณค่า (Value Creation)
ธุรกิจที่มีการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า เร็วกว่าของต้นทุนและราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งขัน สามารถส่งผลให้มีโอกาสและอำนาจที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากคู่แข่งขันจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูงขึ้น ถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการไปแล้วรู้สึกพอใจว่าได้รับประโยชน์หรือคุณค่า คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ถือได้ว่าสินค้าหรือบริการนั้นมีคุณค่าต่อผู้บริโภค (Customer Value) และความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น การทำธุรกิจสมัยใหม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าสม่ำเสมอ และการรักษาลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องเน้นกลยุทธ์ที่ดีและแตกต่างในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างกระบวนการภายใน ให้สามารถทำหน้าที่สร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ให้เกิดขึ้น ผู้บริหารอาจจำเป็นที่จะต้องบริหารทรัพยากรทางการจัดการ อันประกอบด้วย บุคคลากร (Man) เครื่องจักร (Machine) วัตถุดิบ (Material) เงิน (Money) การจัดการ (Management) และตลาด (Market) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดและมีศักยภาพในการแข่งขันได้
Value Creation คือ การสร้างคุณค่าแก่กิจการหรือการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นการใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศหรือการนำจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
การสร้าง Value Creation ในระบบการจัดการโลจิสติกส์นับเป็นวิธีการทางยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งของการจัดการโลจิสติกส์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ใช้เพื่อการวิเคราะห์และออกแบบทางเลือกของการจัดการโลจิสติกส์โดยเน้นการสร้างคุณค่าให้กับระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
รูปกระบวนการ Value Creation และซัพพลายเออร์ในระบบซัพพลายเชน
จากรูปเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของระบบระบบซัพพลายเชนที่ต้องเริ่มต้นด้วยขั้นตอนของการสร้าง Value Creation ก่อนที่จะเชื่อมโยงมายังกระบวนการหลักของระบบซัพพลายเชน กระบวนการสร้าง Value Creation นั้นจะต้องมีส่วนของความต้องการของลูกค้า (Demand Creation) ที่สร้างด้วยลูกค้าและเชื่อมโยงความต้องการเหล่านั้นมาที่ระบบซัพพลายเชนเพื่อการตอบสนองของการซัพพลายเชนหรือในระบบของซัพพลายเชน
กระบวนการของการสร้างระบบ Value Creation นั้นจะต้องมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญของการสร้าง Value Creation ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กลยุทธ์ของการจัดการซัพพลายเชน ระบบสารสนเทศ ระบบซัพพลายเชน และธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กัน
รูปองค์ประกอบของการสร้าง Value Creation
หากศึกษาให้ลึกถึงรายละเอียดก็จะทำให้ทราบถึงตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการสร้างคุณค่ามากขึ้น ตัวแปรเหล่านี้จะเป็นแนวทางของการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนให้เกิดมูลค่าของการสร้าง Value Creation ที่แท้จริง ตัวแปรหรือตัวดัชนีชี้วัดเหล่านี้ยกตัวอย่างเช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Product Quality) ซึ่งอาจะต้องมีตัวชี้วัดย่อยคือ Product Performance Product reliability และ Product consistency ที่จะต้องดำเนินการเพื่อการตอบสนองต่อ คุณคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี ตังแปรหรือตัวดัชนีอื่นเช่น ประสิทธิภาพของการจัดส่ง ระยะเวลาของการออกสู่ตลาด ระบบการสนับสนุนการบริการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รูปตัวแปรที่สัมพันธ์กับการสร้าง Value Creation
กะบวนการสร้าง Value Creation จะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดคุณค่าที่องค์กรต้องการนำเสนอ จากนั้นพิจารณากิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนที่องค์กรจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดคุณค่านั้น ซึ่งประโยชน์ของการนำเครื่องมือนี้มาใช้จะทำให้ได้พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงกิจกรรมที่สำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดคุณค่าที่ต้องการการวิเคราะห์สามารถใช้ได้ทั้งในการวิเคราะห์การดำเนินงานภายใน และการออกแบบกิจกรรมและกระบวนการภายในขององค์กร และสามารถวิเคราะห์ได้ในลักษณะของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (As Is) และสิ่งที่ควรจะเป็น (To Be) เพื่อหาช่องว่าง (Gap) และแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานภายในเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว Value Chain ของแต่ละองค์กรอาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกระบวนงานหลักขององค์กร องค์กรจะต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้หรือเป็นตัวชี้วัดทางด้านบัญชีและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณค่าขององค์กรได้ หากองค์กรสามารถลดต้นทุนและเสริมสร้างประสิทธิภาพได้ดีในการพัฒนาต่อเนื่องกันไปในซัพพลายเชน (Supply Chain) จะส่งผลให้สามารถสร้างซัพพลายเชนคุณค่าที่เข้มแข็งได้
ที่มา
เอกสาร สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 2558 www.logistics.go.th