Marketing การแบ่งกลุ่มและกำหนดเป้าหมาย (Segmentation Targeting Positioning)
การแบ่งกลุ่มและกำหนดเป้าหมาย (Segmentation Targeting Positioning, STP) คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางตลาดที่มี ก่อนที่จะเลือกกลุ่มแล้วกำหนดให้มีเป้าหมายที่มีความชัดเจน
- Segment คือ การจัดแบ่งส่วนตลาดที่ใหญ่ให้มีขนาดย่อยเล็กลง แบ่งเป็นกลุ่มโดยใช้ความสัมพันธ์ หรือตามลักษณะเฉพาะที่คล้ายคลึงกัน
- Target คือ การเลือกกำหนดเป้าหมาย เพื่อจะใช้ในการวางแผนจัดทำหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ และแผนการตลาดให้เหมาะสม
- Positioning คือ การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ของตนว่าอยู่ตรงจุดไหนของตลาด
การเลือกส่วนตลาด (Selecting)
- มุ่งส่วนในตลาดเดียว (Single Segment Concentration) คือ การมุ่งมั่นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในส่วนการตลาดส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะส่วนนั้น ผลดีของการมุ่งเน้นทำตลาดส่วนเดียว ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญและเกิดความได้เปรียบ สามารถประหยัดจากการผลิตที่มีปริมาณมาก (Economy of Scale)
- มุ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะผลิตภัณฑ์ (Product Specialization) คือ การมุ่งไปในส่วนตลาดที่การผลิตสินค้า/บริการเฉพาะที่ชำนาญออกมาตอบสนอง ความต้องการในหลายส่วนตลาด
- มุ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาด (Market Specialization) คือ การมุ่งส่วนตลาดที่มงเน้นไปที่กลุ่มตลาดเดียว โดยการตอบสนองด้วยหลายผลิตภัณฑ์
- มุ่งความเชี่ยวชาญหลายส่วนตลาด (Selective Specialization) คือ การเลือกส่วนตลาดที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และทรัพยากรของบริษัท ในการตอบสนองต่อตลาด
- มุ่งครอบคลุมทุกส่วนตลาด (Full Market Coverage) คือ การเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเข้าสู่หลายส่วนตลาดหรือทุกส่วนตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ามวลชน (Mass Market)
การเลือกตลาดเป้าหมาย (Targeting) คือ การประเมินและเลือกส่วนตลาดส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือมากกว่า จากการแบ่งส่วนตลาดมาเป็นเป้าหมาย
ตลาดเป้าหมาย (Target market หรือ Target group) คือ กลุ่มผู้บริโภคหรือส่วนตลาดที่นักการตลาดสนใจและเลือกที่จะเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนัั้น
- การตลาดแบบไม่แตกต่าง (Undifferentiated Marketing) เป็นการเสนอผลิตภัณฑ์หนึ่งรูปแบบ โดยมองว่าตลาดมีความต้องการเหมือนกัน การตลาดลักษณะนี้มีข้อดีคือ ในด้านการประหยัดต้นทุน เนื่องจากการผลิตในรูปแบบมาตรฐาน (Standardization) และผลิตในจำนวนมาก (Mass Production) จึงทำให้ ลดต้นทุนการผลิต ลดสินค้าคงเหลือ ลดค่าขนส่ง ลดค่าโฆษณา ลดค่าใช้จ่ายในการวิจัย หรือลดค่าใช้จ่ายในการวางแผนการตลาด แต่ก็มีข้อเสียคือ สินค้าชนิดเดียวจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากแต่ละกลุมจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน และไม่เหมาะสมกับตลาดเล็ก
- การตลาดแบบแตกต่าง (Differentiated Marketing) คือ การเลือกส่วนตลาดแบบมุ่งส่วนที่มีความแตกต่างกันมากกว่าหนึ่งส่วนตลาด โดยจะทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ และส่วนประสมทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละส่วนตลาดเช่น รถยนต์ Toyota, Honda เป็นต้น ข้อดีคือ สามารถสร้างยอดขายได้มากเนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด แต่ก็มีข้อเสีย คือ ใช้ต้นทุนในการดำเนินงานสูง ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีต้นทุนการผลิต ต้นทุนในการบริหารส่วนตลาดที่แตกต่างกัน และต้นทุนในการส่งเสริมการตลาด
- การตลาดแบบมุ่งเฉพาะส่วน (Concentrated Marketing) คือ การเลือกส่วนตลาดที่เฉพาะ (Niche Market) เป็นการเลือกส่วนตลาดเพียงส่วนเดียว (Single Segment) เพื่อการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ตลาดได้ตรงกับความต้องการของตลาด มีข้อดีคือ สามารถสร้างความเข้มแข็งในส่วนตลาดนั้นได้เพราะรู้จักตลาดนั้นดี และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ และได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีข้อเสียคือ มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่คู่แข่งจะเข้ามาแบ่งส่วนในการตลาดมาก เพราะตลาดมีขนาดเล็กแต่มีมูลค่าตอบแทนที่สูง
.
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวเพิ่มเติมคลิกที่นี่
การตลาด (Marketing) รวมข้อมูลเพิ่มเติม
-------------------------------------------------