tns ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทหลักประเด็น 15 พลังทางสังคม (Social power)
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น พลังทางสังคม (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐)
บทสรุปผู้บริหาร
การเสริมสร้างพลังทางสังคมจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะเป็นกลไกช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน การสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทและสภาพปัญหาในเชิงลึกที่แท้จริง ด้านความมั่นคง โดยการพัฒนาและเสริมสร้างสังคมและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาของประเทศแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม เพื่อให้คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตและมีจิตสำนึกร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีส่วนร่วมจากชุมชนและสังคม และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ที่ผ่านมา ภาคีการพัฒนาต่าง ๆ อาจมีข้อจำกัดในการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสะท้อนได้จากองค์ประกอบในมิติด้านโอกาสของดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคมในปี ๒๕๖๑ จัดทำโดยองค์กร Social Progress Imperative ที่ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๙๒ จากทั้งหมด ๑๔๖ ประเทศ และได้คะแนนเพียง ๔๕.๙๑ ในมิติด้านโอกาส โดยด้านที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญคือการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการเป็นภาคีการพัฒนาสังคมและประเทศ
ดังนั้น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น พลังทางสังคม จึงได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความเท่าเทียมและเสมอภาคในสังคม ผ่านการมีส่วนร่วมจากประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และภาคีต่าง ๆ ในทุกระดับ ในการร่วมเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่เกื้อกูลการดำเนินการของภาครัฐอย่างเป็นระบบ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่ที่มีความแตกต่างระหว่างกัน บนองค์ความรู้ ข้อมูล และหลักวิชาการที่มีส่วนร่วมจากชุมชนและภาคีในสังคมอย่างแท้จริง โดยแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น พลังทางสังคม ประกอบด้วย ๒ แผนย่อย ได้แก่
การเสริมสร้างทุนทางสังคม เน้นการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของประชากรกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงภาคีเครือข่าย ในการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมเป็นพลังสำคัญในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมประชาสังคม โดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเอง และการจัดการตนเอง การต่อยอดจากรากฐานของสังคมวัฒนธรรมไทยมีทุนเดิมเป็นที่ยกย่องและยอมรับทั่วโลก คือความมีน้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมทั้งทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ และมีรากเหง้าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านบนคาบสมุทรอินโดจีนหรือดินแดนสุวรรณภูมิที่สามารถนำสู่การสร้างให้เกิดทั้งมูลค่าและคุณค่าใหม่ร่วมกันได้ การดึงพลังต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน บนรากฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอยู่
การรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก เน้นการเตรียมคนและสังคมเชิงรุกให้คนทุกช่วงวัยตระหนัก มีความรอบรู้ และความพร้อมรองรับการเป็นสังคมสูงวัยในทุกมิติ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพที่สามารถพึ่งตนเองและเป็นพลังในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศให้นานที่สุด รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังสังคมด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์และภูมิปัญญาให้กับประชากรรุ่นอื่น ๆ และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของสังคมที่มีต่อการปฏิบัติกับผู้สูงอายุ
ดูเอกสารแผนแม่บทเพิ่มเติมได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง
ที่มา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) รวมข้อมูล
-------------------------------------------------