tns ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทหลักประเด็น 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม (Equality and social security)
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐)
บทสรุปผู้บริหาร
การพัฒนาประเทศในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศสภาพ และทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการปิดช่องว่างการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการสร้างหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในสังคมที่ผ่านมา ประชากรกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม และยังขาดหลักประกันทางสังคม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทั้งการเจ็บป่วย ความพิการ การเสียชีวิตหรือการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของหัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัว โดยระดับความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานของประเทศไทยยังจำเป็นต้องได้รับการยกระดับให้ครอบคลุมความคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เนื่องจากสวัสดิการทางสังคมยังขาดความมั่นคงหรือไม่สามารถยึดถือเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวน ๒๐.๘ ล้านคน หรือประมาณร้อยละ ๕๕.๒ ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดที่ ๓๗.๗ ล้านคน และมีแรงงานนอกระบบเพียง ๒.๔๓ ล้านคน หรือ ร้อยละ ๑๒ ที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาตรา ๔๐ ขณะที่ผู้บริโภคไม่มีหลักประกันที่จะได้รับการบริการอย่างมีมาตรฐานทั้งความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม จึงจะเป็นกลไกสำคัญของการกำจัดวงจรความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วยแผนย่อย ๒ แผน ได้แก่
การคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและหลักประกันทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เน้นการขยายความคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำให้ทุกชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมกับความเป็นมนุษย์ โดยเป็นสวัสดิการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบ สร้างระบบคุ้มครองและป้องกันแบบถ้วนหน้า และพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพและเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ครอบคลุมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงการคุ้มครองแรงงานไทยให้มีสวัสดิภาพในการทำงานโดยยกระดับกลไกการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า และการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าและบริการที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเสียเปรียบของผู้บริโภค
มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม เน้นการพัฒนามาตรการและพัฒนากลไกสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงสูง และมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของรัฐในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและตรงกับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงและเหมาะสม
ดูเอกสารแผนแม่บทเพิ่มเติมได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง
ที่มา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) รวมข้อมูล
-------------------------------------------------