tns ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทหลักประเด็น 22 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Law and justice system)
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐)
บทสรุปผู้บริหาร
ทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีเป้าหมายหลักให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญตอบสนองต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยการมุ่งเน้นให้กฎหมายมีความเป็นพลวัตที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และมีกระบวนการยุติธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาคมีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติในทุกด้านบรรลุความสำเร็จในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการมีกฎหมายจำนวนมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศ และการนำกฎหมายไปปฏิบัติยังขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหากระบวนการยุติธรรมของประเทศที่ขาดความโปร่งใส อันเกิดจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่สามารถดำเนินการอย่างสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความเป็นธรรม และเลือกปฏิบัติ อันสามารถสะท้อนได้จากดัชนีนิติธรรม จัดทำโดย World Justice Project (WJP) ของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย ๐.๕ และลำดับที่ ๗๑ จาก ๑๑๓ ประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศสามารถเป็นเครื่องมือของประชาชนทั้งประเทศที่จะใช้สร้างสังคมที่พัฒนาในทุกมิติอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่เลือกปฏิบัติ
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสและพลวัตให้กับการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทั่วถึง ประกอบด้วย ๒ แผนย่อย ได้แก่
๑) การพัฒนากฎหมาย โดยเน้นการดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมายให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องบริบทและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางกฎหมายมาประยุกต์ใช้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงกฎหมายทุกลำดับชั้นให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่ขัดกัน มีการนำกฎหมายไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำกระบวนการยุติธรรมปราศจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม
๒) การพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปอย่างเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพเพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้ง กรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดูเอกสารแผนแม่บทเพิ่มเติมได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง
ที่มา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (Thai National Strategy 20 year) รวมข้อมูล
-------------------------------------------------