แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) 3 ยุทธศาสตร์หลัก
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) มีการดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในการกันจัดทำแผนโลจิสติกส์ฯ ฉบับนี้ขึ้นมา โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม. ในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 แผนโลจิสติกส์ฯ ฉบับที่ 3 ใช้เพื่อกำหนดเป็นการวางแนวทางให้แก่การจัดการโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้ถูกพัฒนาระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบูรณาการการมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชน ซึ่งคอยนำเสนอแนวคิดเพื่อให้ภาครัฐช่วยเหลือปรับปรุง
สศช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ พ.ศ. 2552 ได้ดำเนินการประมวลกรอบแนวคิดทิศทางการพัฒนาขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ การประเมินสภาพแวดล้อมการพัฒนาประเทศ และผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2555-2560) โดยสรุปในภาพรวมมีปัจจัยผลกระทบที่มีนัยสำคัญหลายประการส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการแปลงแผนโลจิสติกส์ฯ ไปสู่การปฏิบัติเช่น วิกฤตการเมือง ความพร้อมของหน่วยงานในการพัฒนาเชิงบูรณาการทั้งด้านแผนงานและพื้นที่การผลักดันแนวทางการจัดสรรงบประมาณเชิงบูรณาการที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและเป้าหมายการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ในการนี้ สศช. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ขึ้น และกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องในงานโลจิสติกส์ของไทย โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
วิสัยทัศน์
“ยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สนับสนุนการเป็น ศูนย์กลางทางการค้า การบริการ การลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
วัตถุประสงค์ มียุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อคือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเพิ่มมูลค่าระบบห่วงโซ่อุปทาน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทาน (Supply Chain Enhancement) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้ได้มาตรฐานสากล และขณะเดียวกันก็สามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานจนถึงจุดจำหน่ายสินค้า หรือผู้บริโภค โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ยกระดับประสิทธิภาพระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Enhancement) ให้ได้มาตรฐานสากล และเครือข่ายโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงตลอดทั้งต้นทางและปลายทาง พร้อมส่งเสริมและพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทาน เส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV+China สนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และยกระดับมาตรฐานการอำนวยความสะดวกรวมถึงการลดเงื่อนไขและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำระบบมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ (Capacity Building and Policy Driving Factors) โดยเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างความเป็นมืออาชีพ และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้านโลจิสติกส์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ และพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศด้วย
ที่มา เอกสาร แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564)
จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th
----------------------------------------
@ ลงข้อมูล / เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ
@ ที่มาข้อมูล www.iok2u.com