E-Book การพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองสู่อนาคตประเทศไทย (Developing regions-for-future-Thailand)
เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2560 ของ สศช. เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
การพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองสู่อนาคตประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่การพัฒนาประเทศไทยในอนาคต จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้ การขยายตัวของประชากรเมืองประชากรเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสัดส่วนของประชากรเมืองจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ในปี 2569 ขณะที่ความต้องการสาธารณูปโภคสาธารณูปการจะมีมากขึ้น เกิดการขยายตัวของเมืองเนื่องจากความต้องการ ที่อยู่อาศัยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
- ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะส่งผลให้กำลังซื้อของประเทศลดลง การออมลดลง ภาระด้านการคลังของประเทศมีมากขึ้น ความต้องการสินค้าในประเทศลดลง และต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากขึ้นทำให้ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งการกำหนดมาตรฐานสินค้ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมมาตรฐานความปลอดภัยสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานอาหาร เป็นต้น
- ความต้องการแรงงานไร้ฝีมือจะลดลง โดยจะนำระบบอัตโนมัติมาทำงานแทนขณะที่ความต้องการแรงงานทักษะฝีมือจะมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงแรงงานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเกิดอุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนอง
- ความต้องการในภาคการผลิตบริการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่รูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการมีวัฏจักรสั้นลง
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมากขึ้น ทั้งการลดลงของพื้นที่ป่าปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการน้ำที่มีมากขึ้นมลพิษที่มีมากขึ้น เนื่องจาก การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งทำให้เกิดขยะ น้ำเสีย อากาศเสีย และการบุกรุกทำลายป่า
- โครงสร้างพื้นฐานมีการพัฒนามากขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างความพร้อมของพื้นที่ในการขยายฐานการผลิตและการบริการ และในการพัฒนาเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในระยะต่อไปจะต้องให้ความสำคัญกับ การยกระดับฐานการผลิตและบริการเดิมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและการขยายฐานใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและศักยภาพของพื้นที่
- ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนายังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ทั้งความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ การได้รับบริการทางการศึกษาและสาธารณสุข การถือครองที่ดิน และการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องแก้ไขเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างศักยภาพของประชาชนและผู้ประกอบการ ให้สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น
- นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นทั้งปัจจัยที่สนับสนุนและข้อจำกัดต่อการค้าการลงทุนของไทย ทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศการบริหารจัดการการผ่านแดน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและเมืองชายแดน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งทางบวกและทางลบ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสมากขึ้นในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และช่วยให้การซื้อขายสินค้าและบริการมีความสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดีหากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับตัวไม่ทันอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และประชาชนต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่นำไปสู่การสูญเสียคุณค่าทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่เน้นการบริโภคนิยมและค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อ แนวทางการพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ในแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณ ชายแดนพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับทั่วโลกและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย เป็นฐานการผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก มีท่าเรือน้ำลึกและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยรวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบสำหรับการผลิตอย่างไรก็ดี การขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเชื่อมั่น
สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในเล่ม
ดาวน์โหลด E-book ได้ที่ https://iok2u.com/index.php/news/e-booka/1272-e-book-e-gov-for-future-thailand
ที่มาภาพ www.iok2u.com
---------------------------------------------
ดูเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ที่
E-Book รวมของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
---------------------------------------------