Lertsin 037 ธรณีวิทยาไร้พรมแดน (3)
Lertsin 037 ธรณีวิทยาไร้พรมแดน (3)
เมื่อปี 2522 พี่อัศนี และผมเคยคิดจะเข้าพื้นที่บริเวณ บ้านกุมุง ริมแม่น้ำสายบุรี อำเภอจะแนะ นราธิวาส แต่เมื่อถึง บ้านดุซงญอ มีสัญญานเตือนห้ามไปต่อ เลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ ครั้งนี้ไม่พลาดแน่นอน บริเวณ บ้านกุมุงและพื้นที่ใกล้เคียง พบหลักฐานสำคัญทางธรณีวิทยามากมาย เช่น หินบะซอลท์รูปหมอน แสดงถึงการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล หินตะกอนหลายชนิดที่มีโครงสร้างภายในชั้นหินและไม่มีทิศทางการวางตัวแน่นอน บ่งบอกว่าเป็นพวก "Olistrostrome" อยู่ร่วมกับ หินอัคนีอุลตร้าเบสิค และแร่โครไมท์ อยู่ด้วย หินทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นหลักฐานบ่งชี้วิวัฒนาการของเปลือกโลกบริเวณนี้ได้ดี ว่าอยู่ใกล้กับการชนกันของแผ่นเปลือกทวีป ถ้าสามารถล่องแพสำรวจธรณีวิทยาตาม แม่น้ำสายบุรี ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากแม่น้ำ คงทำให้เข้าใจการเกิดของปลายสุดของด้ามขวานไทยได้ดีขึ้น ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ทฤษฎีธรณีแปรสัณฐาน สิ่งที่ตามมา คือ การค้นพบแหล่งแร่ที่สำคัญ ส่วนจะนำมาใช้หรือไม่คงต้องถามชาวบ้านในพื้นที่ดีที่สุด
ถ้าขับรถจากจุดนี้ไป อำเภอสุคิริน ก่อนถึงตัวอำเภอจะเห็นภูเขาสูงมีหน้าผาชัน สภาพธรณีสัณฐานคล้ายภูเขาหินปูนที่มีรอยเลื่อนตัดผ่าน แต่เขาลูกนี้เป็นหินแกรนิตที่ ดร.ต๋อง บอกว่าเป็นชนิด I-type คือ เกิดจากการดันตัวขึ้นมาของแมกม่าโดยตรง ส่วนที่เห็นเป็นสันเขายาวเกิน 1 กิโลเมตร คือ สายแร่ควอตซ์ ได้ปีนขึ้นไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ทางเคมีพบว่ามีค่าของ ซิลิกอนไดอ๊อกไซด์ 96-98 % นับว่าไม่สูงมากแต่ถ้ามีการสำรวจอย่างจริงจัง อาจพบแร่ควอตซ์คุณภาพสูงได้ สำหรับปริมาณสำรองแร่ ต้องเรียกว่ามากมายมหาศาล
แหล่งดินขาว ที่ อำเภอสุไหงปาดี ไม่น่าสนใจเพราะมีสิ่งเจอปนสูงมาก คุณภาพสู้ ดินขาวที่ระนอง ปราจีนบุรี ไม่ได้ แต่ได้พบ สายแร่ตะกั่วขนาด 10 เซนติเมตร แทรกขึ้นมาในรอยแตกของหินแกรนิต ไม่ได้สำรวจรายละเอียดอะไรเลยเพราะชาวบ้านบอกว่าอย่าเข้าไปลึกเกินการ เชื่อฟังมีแต่คุณไม่มีโทษอันใด
พื้นที่ระหว่างตัว จังหวัดนราธิวาส จนถึงตัว อำเภอสุไหงโก-ลก ส่วนใหญ่เป็นที่ราบป่า พรุสิรินธร หรือพรุโต๊ะแดง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า น้ำทะเลเคยท่วมถึงและถอยลงไปไม่หมด โดนกักอยู่กลายเป็นพรุ ที่ บ้านมูโน๊ะ พบเกลือซัลเฟตอยู่บนผิวดินเห็นเป็นคราบสีเหลืองเป็นบริเวณกว้าง ในขณะที่ฝั่งตรงขัามในเขตมาเลเซีย มีหิน ignimbrite ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟชนิดหนึ่งแผ่กระจายอยู่เป์นบริเวณกว้าง มีโอกาสได้ไปเฝ้าหลุมเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่แถวนั้น พบว่าลึกลงไปไม่เกิน 10 เมตร พบหินภูเขาไฟ ชนิดแอนดิไซต์ หลายแห่ง จึงได้ย้อนกลับไปเก็บตะกอนที่ บ้านมูโน๊ะ เพื่อศึกษาธรณีเคมีพบว่ามีปริมาณทองคำอยู่ในปริมาณที่น่าสนใจทีเดียว
ในระหว่างที่ออกภาคสนามร่วมกันทั้งในเขตมาเลเซียและไทย ทีมงานก็ยังมีการถกเถียงในทางวิชาการอย่างเข้มข้น แต่สังเกตเห็น พี่อัศนีและคุณอิบราฮิม เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น มีการหัวเราะต่อกระซิกกัน จนผมแปลกใจและดีใจ สิ่งที่เคยคิดว่ายากก็กลายเป็นง่าย ที่เคยปฏิบัติอย่างเค่รงครัด เช่น การหาสถานที่ละหมาดก็อาจไม่ต้องหาสุเหร่า เมื่อถึงเวลา พวกเขาจะขอตัวไปหาพื้นที่ที่เหมาะสม เอาผ้าปูพื้น และทำการละหมาด ได้เลย นี่แหละเขาถึงบอก มิตรภาพสามารถทำลายกำแพงแห่งอุปสรรคได้ ทีมงานก็สนุกเพิ่มขึ้น การทำงานด้วยใจที่เป็นสุข ส่งผลถึงงานที่ดีมีประสิทธิภาพด้วย
เมื่อครั้งที่พาทีมงานทั้งไทยและมาเลเซีย เข้าเยี่ยมชม โครงการพิกุลทอง ซึ่งเป็นโครงการแกล้งดิน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้ฟังด้วยตัวเอง เขาบรรยายสักพัก แล้วก็หันมามองหน้าผม ทำแบบนี้ 3-4 ครั้ง จนผมรู้สึกอึดอัด เมื่อบรรยายเสร็จผมเข้าไปกระชิบถามว่ามีอะไรผิดปรกติหรือ เขาถามกลับมาว่า พี่เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ปี 15 ใช่ไหม? ซวยแล้วสิ เจอโจทย์เก่าหรือไร แต่ก็ไม่โกหก บอกว่า "ใช่" เขาลืมตาโพรงพร้อมพูดเสียงดังเลยว่า "พี่เป็นว๊ากเกอร์ผม" ทุกคนหันมามอง ผมได้แต่หัวเราะแหะๆ แล้วถามว่าไปไงมาไงถึงมาทำงานใหญ่โตระดับชาติได้ เขาบอกว่าเป็นน้องใหม่วิดยา 16 จบฟิสิกซ์ แล้วไปต่อปริญญาโทที่มหิดล เสียดายที่ไม่มีเวลา เพราะต้องพาทีมงานไปที่อื่นอีก เขาบอกชื่อ แต่ผมลืมแล้ว
เมื่อสำรวจเก็บข้อมูลเรียบร้อย ก็ต้องเตรียมการจัดประชุมชุดใหญ่ ระหว่างนั่งรถตู้จากหาดใหญ่ไปนราธิวาส ก็ได้รับโทรศัทพ์จากคนสนิทของอธิบดีกรมทรัพย์ ว่าท่านอยากคุยด้วยให้ไปพบที่ หาดใหญ่ ผมบอกไม่ว่าง ต้องไปจัดสถานที่เพราะวันรุ่งขึ้น มีการประชุมร่วมไทย-มาเลย์ ที่ อธิบดีได้มอบหมายให้รองอธิบดีท่านหนึ่งมาเป็นประธาน คนสนิทบอก อธิบดีเพิ่งเสร็จภารกิจที่ นราธิวาส กำลังนั่งรถเข้าหาดใหญ่ ผมบอกเจอกันครึ่งทาง ปั๊มน้ำมันใกล้แม่น้ำสายบุรี ไม่น่าเชื่อ ได้ยินเสียงอธิบดีตอบมาว่า "ได้" บอกทีมงานแวะปั๊ม อธิบดีต้องการพบ ทุกคนไม่เชื่อ คิดว่าผมอยากเข้าห้องน้ำมากกว่า ไปรอไม่เกิน 10 นาที มีรถตู้ติดฟิล์มกรองแสงวิ่งเข้ามา ทีมงานกระจัดกระจาย ผมยืนรออยู่คนเดียว เมื่ออธิบดีลงมาทีมงานค่อยวิ่งมาร่วมต้อนรับ คุยกันไม่นาน ท่านก็แยกตัวไป ผมก็เดินทางต่อไปจัดสถานที่ประชุมจนผ่านไปด้วยดี
ขอย้อนเหตุการณ์ก่อนเริ่มงานสำรวจในปี 2544 มีการประชุมใหญ่ เพื่อกำหนดนโยบายและให้คณะทำงานสรุปงานทั้งหมดในเฟสแรก จัดขึ้นที่ เกาะลังกาวี นอกจากต้องนำเสนองานแล้ว ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการทำใบสำคัญด้านการเงิน เมื่อไปถึง รูปปั้นนกอินทรี สัญญลักษณ์ของ เกาะลังกาวี ทีมมาเลเซียคงอยากลองภูมิ เลยถามว่าหินที่วางเป็นฐานรูปปั้นเป็นของหมวดหินอะไร พี่อัศนี กับผม เข้าไปพินิจพิจารณาสักครู่ หันมายิ้มให้กัน คงได้คำตอบคล้ายกัน พี่อัศนีตอบ มันคือเรซี่นที่หล่อให้เหมือนหิน
การจัดการเรื่องใบสำคัญเพื่อเคลียร์เงินยืมของราชการยากกว่าการดูหินมาก คืนนั้นตรวจพบว่าทางโรงแรมออกใบเสร็จให้ผิดพลาดเลยขอให้เขาแก้ไข ครั้งแรกเขาไม่ยอมผมก็ไม่ยอมเหมือนกัน คืนนั้นเลยไม่ได้ร่วมก๊งกับใครเลยกว่าจะแก้ไขได้เกือบตีสอง โชคดีที่ได้น้องต้นมาอยู่เป็นเพื่อน ได้รู้สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไข ต่อมาจึงมอบภาระหน้าที่นี้ใหัน้องต้นดูแลคนเดียว
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
11 ตุลาคม 2564
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------