iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา

Lertsin 047 แร่แคลไซต์กลางทุ่งนา 

 

 

Lertsin 047 แร่แคลไซต์กลางทุ่งนา

วิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 หรือที่รู้จักคุ้นเคยกันในชื่อ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลกระทบไปทั่ว ธุรกิจมากมายที่ต้องล้มหายตายจากหรือเปลี่ยนมือให้นายทุนจากต่างชาติมาถือครองแทน วงการเหมืองแร่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นายเหมืองหน้าเก่าแค่ประคองตัวให้ผ่านวิกฤติก็เพียงพอแล้ว ส่วนนายเหมืองหน้าใหม่ไม่ได้เกิดแน่นอน เมื่อสถานการณ์เริ่มทุเลา ธุรกิจหลายอย่างก็เริ่มโงหัวขึ้น รวมถึงด้านเหมืองแร่อโลหะด้วย ส่วนเรื่องแร่โลหะก็คงต้องวิ่งวนอยู่ก้นเหวต่อไป ไม่ใช่เพราะว่าแหล่งแร่โลหะหมดไปแล้ว แต่เป็นเพราะอุปสรรคที่รุนแรง จากการรณรงค์ต่อต้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีการวิเคราะห์ผลได้ผลเสียอย่างเที่ยงธรรม

ปลายปี พ.ศ. 2543 ได้รับการติดต่อให้ไปสำรวจ แร่แคลไซต์ ที่บ้านโคกตูม ลพบุรี โดยนายเหมืองหน้าใหม่ มีโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่ใช้แร่แคลไซต์ เป็นวัตถุดิบหลัก ได้บอกให้เขาเตรียมใจสำหรับความผิดหวัง เพราะพื้นที่นี้มีบริษัทใหญ่มากได้ทำเหมืองแคลไซต์มานานแล้ว เขาคงสำรวจและขออาชญาบัตรสำรวจแร่ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพสูงไว้หมด ที่เว้นว่างไว้คงเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเจอแร่แคลไซต์ต่ำมาก

แคลไซต์ คือ แร่ที่มีส่วนประกอบทางเคมีของแคลเซี่ยมคาร์บอร์เนต เป็นแร่ประกอบหินหลักของหินปูน และหินอ่อน แร่แคลไซต์เกรดเคมี นําไปใช้ใน อุตสาหกรรมอาหาร ยา อุตสาหกรรมเคมีต่างๆ สารตัวเติม สี และกระดาษ เกณฑ์มาตรฐานที่กําหนดให้แคลไซต์และหินปูนเป็นเกรดเคมี คือ ต้องมีค่าองค์ประกอบของแคลเซียมออกไซด์มากกว่าร้อยละ 55.4 หรือมีปริมาณของแคลเซียมคาร์บอเนต มากกว่าร้อยละ 99 และมีค่ามลทินขององค์ประกอบตัวอื่นๆ ต่ำมาก

การเกิดแหล่งแร่แคลไซต์เกรดเคมีมีหลายแบบแต่ที่เป็นแหล่งใหญ่ แบบที่พบบริเวณ บ้านโคกตูม เกิดจากกระบวนการแปรสัมผัส โดยหินปูนที่มีมลทินต่ำ อายุ 270 ล้านปี (ยุคเพอร์เมียน)ได้รับความร้อนจากหินอัคนีแทรกซอน อายุ 230-250 ล้านปี (ยุคเพอร์โมไทรแอสซิก) ที่แทรกดันขึ้นมาจากใต้โลก ทำให้หินปูนมีการตกผลึกใหม่ แปรเปลี่ยนเป็น แร่แคลไซต์ ดังนั้นการหาแหล่งแร่แคลไซต์ที่ บ้านโคกตูม จึงต้องหาบริเวณที่หินปูนสัมผัสอยู่กับ หินอัคนีแทรกซอน

เมื่อได้ลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าของโครงการ เขาชี้ให้ดูพื้นที่สำรวจ เห็นแล้วตกใจมากเพราะพื้นที่เป้าหมายขนาด 100 กว่าไร่ เป็นทุ่งนาทั้งหมด ไม่มีเนินเขา ไม่มีหินโผล่ให้เห็น อยู่ห่างจากเหมืองแร่แคลไซด์ ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว 2-3 กิโลเมตร เริ่มหนักใจมากว่าจะสำรวจอย่างไรดี หลักการสำรวจแร่ คือ ต้องเข้าใจสภาพธรณีวิทยาในพื้นที่ รู้ว่าแร่เป้าหมายมีกระบวนการเกิดอย่างไร เดินสำรวจวัดทิศทางการวางตัวของชั้นหิน แร่ เก็บตัวอย่างหินโผล่ กำหนดจุดลงในแผนที่ เพื่อจัดทำแผนทึ่ธรณีวิทยารายละเอียด เพื่อวางแผนการสำรวจธรณีฟิสิกซ์ และเจาะสำรวจต่อไป แต่พื้นที่นี้ไม่มีหินโผล่เลย จะบอกให้สำรวจธรณีฟิสิกซ์ ก็ใช่ที่ เพราะค่าใช้จ่ายสูงและยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เอาแผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1:250,000 ของ กรมทรัพยากรธรณี มาศึกษา พบว่าบริเวณนี้เป็นตะกอนเนินตะพัก มีหินปูนยุคเพอร์เมียนอยู่ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร และมีหินอัคนีแทรกซอนอยู่ใกล้กัน จึงเป็นไปได้ที่จะมีแนวสัมผัสระหว่างหินปูน และหินอัคนีแทรกซอนอยู่ในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย คงต้องหาวิธีสำรวจแร่เบื้องต้นแบบนอกตำรา ตัดสินใจเดินลุยทุ่งนา ที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย มีน้ำท่วมขังอยู่ โชคดีเป็นของเจ้าของโครงการ เริ่มพบเศษหินก้อนขนาดเท่ากำปั้น รู้ว่าหินเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับทึ่ ไม่สามารถวัดทิศทางการวางตัวชั้นหินได้ แต่ก้อนหินเหล่านั้นก็มาไม่ไกลหรอก คงไม่มีใครหยิบมาจากที่อื่นแล้วมาโยนทิ้งในทุ่งนา หินก้อนแรกที่พบเป็น หินอัคนีแทรกซอนชนิด ไดออไรต์ ต่อมาเจอก้อน แร่แคลไซต์ เริ่มนำมาใส่ตำแหน่งที่พบลงในแผนที่มาตราส่วน 1:10,000 ที่ขยายมาจากแผนที่ภูมิประเทศมาตรส่วน 1:50,000 ของ กรมแผนที่ทหาร ไม่น่าเชื่อว่า 2 วันเต็มที่เดินย่ำโคลนอยู่ในทุ่งนา เก็บหินได้หลายก้อน พอมองเห็นขอบเขตระหว่างหินอัคนีแทรกซอน และแร่แคลไซต์ จึงกำหนดจุดเจาะสำรวจ รวม 8 หลุม ความลึกหลุมละ 50 เมตร แต่ถ้าเจาะลงไปแล้วพบว่าเป็น หินอัคนีแทรกซอน ก็ให้หยุดทันที ผลสำรวจทำให้พบแหล่งแร่แคลไซต์ ในพื้นที่เป้าหมาย ปริมาณมากพอที่จะทำเหมืองได้ ภารกิจเสร็จสิ้นอย่างมีความสุข และไม่มีโอกาสผ่านไปแถวนั้นอีกเลย

ปลายปี พ.ศ. 2546 ได้มีโอกาสไปตรวจสอบน้ำมันสูตรพิศดาร ของ สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ที่โด่งดังมาจากการเป็นสถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด จนอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ เจ้าอาวาสองค์ก่อนได้ รางวัลแมกไซไซ ในปี 2518 เมื่อเสร็จภารกิจที่ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เลยถือโอกาสวิ่งเลยไปที่ บ้านโคกตูม ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 20 กิโลเมตร ตื่นตลึงที่ได้เห็นบ่อเหมืองแคลไซต์ในพื้นที่ที่เคยมาสำรวจเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน ได้เห็นโรงงานใหญ่โผล่ขึ้นมา มีคนทำงานจำนวนมาก หยุดมองอยู่เป็นเวลานานพอควร บังเกิดความปิติขึ้นมาในใจของ นักธรณีวิทยาคนหนึ่งที่มีส่วนสร้างงานให้คนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ บ้านโคกตูมได้เป็นอย่างดี แม้ไม่มีใครรู้และก็ไม่ได้ต้องการให้ใครมารู้ แต่ขอเก็บความภาคภูมิใจไว้กับตัวเองที่ได้ใช้องค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ค้นหาทรัพยากรแร่กลางทุ่งนาจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

 
 
 

เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์

10 กรกฎาคม 2565

 
 
 

ที่มา

https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์

รวบรวมข้อมูลและภาพ

www.iok2u.com

-------------------------------------------------

Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล

-------------------------------------------------


 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward