Lertsin 048 เพชรพังงา
แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดพังงา ภูเก็ต แสดงพื้นที่พบเพชรพังงา
Lertsin 048 เพชรพังงา
ใน "37 ปี ที่อยู่กับหิน" ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องเพชร ไว้ 2 ตอน คือตอนที่ 13 เพชรราหู และตอนที่ 14 เพชรพญานาค ทั้ง 2 ชนิด เป็นเพชรที่เกิดจากความเชื่อไม่ใช่ เพชรแท้ แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่าในเมืองไทยก็มีแหล่งเพชร ที่เป็นเพชรแท้เกิดตามธรรมชาติ ผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบจากหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ มีการซื้อขายกันในตลาดอัญมณีด้วยราคาที่สูงมากเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนเพชรที่ใดในโลก มีชื่อเรียกในวงการค้าเพชรว่า "เพชรพังงา"
ระหว่างปี พ.ศ. 2500-2525 เป็นยุครุ่งเรืองของ การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แท้จริง รายได้หลักของประเทศ อันดับ 1-3 สลับกันระหว่าง ดีบุก ข้าว และ ยางพารา เศรษฐกิจไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้เพราะมี การทำเหมืองแร่ จนมีคำขวัญพูดกันติดปากว่า "ผู้ใดทำเหมือง ผู้นั้นช่วยชาติ" บริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกมากที่สุดอยู่ที่ จังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง มีการทำเหมืองทั้งบนบกและในทะเล ข่าวการพบเพชรอยู่ร่วมกับแร่ดีบุกกระจายอยู่ในวงแคบ เริ่มมีร้านรับซื้อเพชรที่ บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แต่แล้วในปี พ.ศ. 2526 เกิดวิกฤตราคาแร่ดีบุกตกต่ำ ทำให้เหมืองแร่ดีบุกต้องหยุดกิจการ ธุรกิจเพชรพังงาที่ บ้านน้ำเค็ม ก็เลือนหายไปด้วยเช่นกัน
ปี พ.ศ. 2536 ประเทศไทย ประกาศเชิญชวนผู้สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาสำรวจและทำเหมืองเพชร ในพื้นที่ จังหวดพังงา แต่ไม่มีผู้สนใจเลยแม้แต่รายเดียว คงเป็นเพราะเรามีข้อมูลเบื้องต้นน้อยมาก เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง มีเพียงการแสดงตัวอย่างเพชรที่พบและการตั้งสมมติฐานการกำเนิดเพชรพังงาไว้ 2 แบบ
1. มีหินแม่ เช่น คิมเบอร์ไลด์ หรือแลมโพรไอต์ นำเพชรมาจากใต้โลกขึ้นมาผิวโลก ต่อมาถูกกระบวนการกัดกร่อน ทำให้หินแม่ผุพังไปหมด ส่วนเพชรทนต่อการกัดกร่อนหลุดออกมาสะสมตัวในชั้นกะสะร่วมกับแร่ดีบุก ที่หลุดออกมาจาก หินแกรนิต
2. เป็นเม็ดกรวดสะสมอยู่ในหินโคลนปนกรวด ที่สะสมตัวเมื่อ 300 ล้านปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่โลกอยู่ในยุคน้ำแข็งและแผ่นดินไทย อยู่บริเวณซีกโลกใต้ใกล้กับทวีปออสเตรเลีย เพชรและก้อนกรวดหลายชนิดถูกพามาโดยธารน้ำแข็งล่องลอยไปในทะเล เมื่อน้ำแข็งละลายเพชรและกรวดจึงหล่นลงไปทับถมอยู่ในชั้นโคลนทะเล กลายเป็นหินโคลนปนกรวด
ปี พศ. 2542 มีโอกาสพานักธรณีวิทยาของ บริษัทแฮรอต ไปสำรวจธรณีวิทยาในพื้นที่พังงา ภูเก็ต ได้พาไปซื้อ เพชรพังงาเกรดอุตสาหกรรม เอามาทำอัญมณีไม่ได้ ขนาดใหญ่กว่าเม็ดถั่วเขียวเล็กน้อย ก่อนหน้านั้น เคยซื้อเม็ดละ 200 บาท แต่ชาวบ้านขายให้แฮรอตเม็ดละ 1พันบาท 8 เม็ด 8 พันบาท ขาดตัว ผมไม่ท้วงติงใดๆ เพราะถือเป็นการกระจายรายได้ แฮรอต เอาไปศึกษาเชิงลึกแล้วแจ้งมาว่า เพชรพังงา มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ หินคิมเบอร์ไลต์ หรือ แลมโพรไอต์ แปลกใจเล็กน้อยสำหรับ หินคิมเบอร์ไลต์ เพราะว่าเราเดินเกือบจะทุกตารางกิโลเมตร ไม่เคยเจอ หินคิมเบอร์ไลต์ เลย แต่อาจหลงหูหลงตาได้เพราะหินชนิดนี้ผุพังง่ายกลายเป็นที่ราบหรือหนองบึง อีกทั้งตามทฤษฎีและรายงานวิจัยที่ผ่านมา หินคิมเบอร์ไลต์ ที่ให้เพชรมักมีอายุเกิน พันล้านปี แต่ธรณีวิทยาประเทศไทย ไม่น่ามีหินอายุมากเท่านั้น เนื่องจากเป็นแอ่งสะสมตะกอนที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวจากซีกโลกใต้มาซีกโลกเหนือ หินที่มีอายุระดับพันล้านปีน่าจะถูกแปรสภาพไปหมดแล้ว แต่ถ้าเป็น หินแลมโพรไอต์ อาจเป็นไปได้ สภาพธรณีวิทยาอาจใกล้เคียงกับ แหล่งเพชรเมืองอาร์ไก ออสเตรเลีย ที่ปัจจุบัน คือ แหล่งเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น เป้าหมายน่าจะเป็น หินแลมโพรไอต์ ที่แทรกดันอยู่ในหินแกรนิต จำได้ว่าเคยขึ้นไป เหมืองนกฮูก เขากระทะคว่ำ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พบหินที่ไม่คุ้นเคยแทรกดันอยู่ในหินแกรนิต ที่ให้แร่ดีบุกอยู่หลายแนว แต่ขณะนั้น ความสนใจมุ่งไปที่แร่ดีบุก จึงละเลยหินชนิดอื่น เมื่อเอาแผนที่มากางดูตำแหน่งที่มีรายงานการพบเพชร พบว่าส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงกับเขากระทะคว่ำได้ หมายความว่าถ้าแหล่งเพชรเริ่มต้นอยู่ที่เขากระทะคว่ำ เมื่อถูกกัดกร่อนและพัดพาลงจากภูเขา เพชร สามารถถูกพัดพาไปสะสมที่ อ่าวพังงา และบ้านน้ำเค็มได้ ยกเว้นเพชรที่เจอร่วมกับดีบุก ที่ อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ถ้า แฮรอต สนใจสำรวจต่อ เราก็มีพื้นที่เป้าหมายให้ทำงาน แต่เขาก็ล้มเลิกโครงการเสียก่อน น่าเสียดายจริงๆ จนบัดนี้จึงยังไม่รู้ชัดว่าเพชรพังงาเกิดแบบใดแน่
ปัจจุบันเป็นยุคของ "ผู้ใดทำเหมือง ผู้นั้นทำลายชาติ" อีกทั้งพื้นที่ศักยภาพแหล่งเพชร ล้วนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ เหมืองเพชรของไทยคงไม่เกิดขึ้นแน่นอนในระยะเวลา 50 ปี บทความนี้ต้องการบันทึกให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ เผื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องการมีเหมืองเพชร จะได้มีพื้นที่เริ่มต้นในการทำงาน
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
14 กรกฎาคม 2565
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------