Lertsin 049 ต้นมะขามช่วยชีวิต
Lertsin 049 ต้นมะขามช่วยชีวิต
เมื่อเข้าฤดูฝน ธรณีพิบัติภัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ "ดินถล่ม" ที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดดินถล่ม คือ สภาพธรณีวิทยา สภาพภูมิประเทศ สภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีปริมาณน้ำฝนเป็นตัวจุดชนวน แต่ มีบางพื้นที่ แผ่นดินไหวเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดดินถล่มได้เช่นกัน
ประเทศไทยมีหินหลายประเภท หลายชนิดทั้ง หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร ข้อมูลในแผนที่ธรณีวิทยา (กรมทรัพยากรธรณี พ.ศ. 2550) ได้จำแนกหินตามคุณสมบัติทางกายภาพ สภาพแวดล้อมของการเกิดและอายุของหินออกเป็น 43 ชุดหิน แต่การวิเคราะห์พื้นที่มีโอกาศเกิดดินถล่มพิจารณาถึงคุณสมบัติทางกายภาพและวิศวกรรมธรณีเป็นหลัก จึงจำแนกหินออกได้ 8 ชุดหิน คือ หินแกรนิต หินภูเขาไฟ หินทราย หินดินดาน หินปูน หินแปร ตะกอนที่ราบน้ำท่วมถึง และตะกอนน้ำพารูปพัด
เขาหินแกรนิต มีโอกาสเกิดดินถล่มสูงสุดเนื่องจากเป็นหินแข็ง คงสภาพเป็นภูเขาสูง แต่หินชนิดนี้ถูกกระบวนการกัดกร่อนทั้งทางกายภาพและเคมีได้ง่าย ทำให้มีเศษหิน ดิน ค้างอยู่บนภูเขาจำนวนมาก เมื่อมีฝนตกหนัก ชั้นดินอุ้มน้ำไม่ไหวจึงถล่มลงมาง่ายดาย สร้างอันตรายได้สูงสุด จากเหตุการณ์ดินถล่ม จำนวน 78 ครั้งใน 40 ปี พบว่าเกิดในบริเวณเขาหินแกรนิตถึง 26 ครั้ง เป็นดินถล่มรุนแรงสร้างความเสียหายให้ทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก
ความสูงและความชันของภูเขา เป็นปัจจัยที่ตัองคำนึง ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ยิ่งเขาสูงชันมากยิ่งมีโอกาสเกิดดินถล่มสูงมาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังไม่เคยพบร่องรอยดินถล่มในพื้นที่ที่มีความชันสูงเกิน 70 % คงเป็นเพราะเมื่อหินผุพังกลายเป็นดิน ก็ไม่สามารภสะสมอยู่บนความชันขนาดนั้นได้ร่วงหล่นลงมาหมด ภัยที่พบใกล้ภูเขาสูงชันแบบเขาหินปูน คือ หินร่วงไม่ใช่ดินถล่ม
มนุษย์ คือ ตัวการใหญ่ในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้สมดุลย์ธรรมชาติสูญเสียไป การก่อสร้างที่พักอาศัย ตัดตีนเขา ทำลายป่า ปลูกต้นไม้ที่ไร้รากแก้วค้ำยัน ทำฝายกั้นน้ำในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ล้วนเป็นชนวนส่งเสริมให้เกิดดินถล่มได้ง่ายขึ้น
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ของไทย คือ 1,250 มิลลิเมตร / ปี เมื่อวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2531 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีฝนตกกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตา เพียง 4 วันวัดปริมาณน้ำฝนสะสมได้ถึง 1,051 มิลลิเมตร ทำให้เกิดดินถล่มรุนแรงมากมายหลายแห่ง รอบเทือกเขาหลวง สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ที่อยู่ในความทรงจำของชาวไทยเป็นอย่างดี คือ เหตุการณ์ ดินถล่มบ้านกระทูน อำเภอฉวาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 230 คน บ้านเรือนเสียหาย 1,500 หลังคาเรือน สำหรับปริมาณฝนน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดดินถล่ม คือ 101 มิลลิเมตรใน 1 วัน ที่ บ้านน้ำก้อ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ 10 สิงหาคม 2544 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 140 คน บ้านเรือนเสียหาย 600 หลังคาเรือน
ในบทความ "37 ปีที่อยู่กับหิน" ตอนที่ 12 "รอดตายเพราะกรมทรัพย์" ได้พูดถึงเหตุการณ์ดินถล่มที่บ้านหน้าเขา อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เมื่อ 29 มีนาคม 2555 พร้อมทั้งบอกให้ทราบถึงข้อสังเกต หรือสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าก่อนเกิดดินถล่ม และบทบาทของอาสาสมัครเตือนภัยดินถล่ม กรมทรัพยากรธรณี ที่มาช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นอันตรายได้เป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน บ้านเรือนพังราบคาบไม่น้อยกว่า 300 หลังคาเรือน แต่อยากเติมเต็มสิ่งที่ได้รับฟังจากปากของผู้ประสบภัย ว่าทำไมถึงรอดชีวิตมาได้ทั้งที่บางคนไม่ได้ทำตามแผนอพยพที่พวกเราได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา
การเข้าตรวจสอบพื้นที่ และพูดคุยกับชาวบ้านผู้ประสบเหตุ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขแผนเผชิญเหตุให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ชาวบ้านผู้ประสบภัยเล่าให้ฟังว่า ในวันเกิดเหตุ มีคนหนีไม่ทันหลายคน ทั้งที่มีการส่งสัญญานเตือนให้อพยพแล้ว แต่ด้วยความเป็นห่วงทรัพย์สิน เลยไม่ยอมทำตามแผนอพยพทันทีที่มีสัญญานเตือน พอน้ำพร้อมเศษหินทะลักเข้ามาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้าน 8 คน ได้ปีนขึ้นต้นมะขามที่มีอยู่เพียงต้นเดียวในหมู่บ้าน พวกเขาได้เห็นกับตาถึงความเกรี้ยวกราดของพลังน้ำ ที่กวาดเอาบ้านพังราบเป็นหน้ากอง เขาคิดว่าคงตายแน่เพราะว่าต้นมะขามไม่ใหญ่มาก แถมมีคนอยู่อีกตั้ง 8 คน คงทานกระแสน้ำไม่ไหวแน่ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมู่บ้าน เหลือเพียงต้นมะขามกับบ้านที่อยู่หลังต้นมะขามเท่านั้น มีตะกอนหินดินทรายจาก ภูเขาพนมเบญจา ลงมาทับภมจนทำให้พื้นดินสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบ 2 เมตร ตอนที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ยังได้เห็นต้นมะขามต้นนั้นตั้งเด่นอยู่กลางตะกอนน้ำพารูปพัด พลันนึกถึงเหตุการณ์ดินถล่มครั้งใหญ่ ในจังหวัดอุตรดิตถ์และแพร่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2549 ทำให้มีผู้เสียชีวิต่เกือบ 100 คน โดยในเหตุการณ์นั้น ที่ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มีผู้รอดตายเพราะปีนขึ้นไปหลบภัยบนต้นมะขามต้นเดียวกันถึง 20 กว่าคน แสดงว่าต้นมะขามคงเหนียว รากหยั่งลึกจนสามารถ ต้านทานดินถล่มได้ ภายหลัง เมื่อมีการอบรมเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่ม จึงแนะนำให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มว่าควรปลูกต้นมะขามไว้ในหมู่บ้านด้านเหนือน้ำ อาจช่วยชีวิตจากเหตุการดินถล่มยามฉุกเฉินได้
มีโอกาสเข้าไปติดตามประเมินผลงานที่บ้านหน้าเขาภายหลังการเกิดเหตุ 8 เดือน เป็นเรื่องเศร้าที่ทราบว่า มะขามต้น นั้นตายแล้ว ชาวบ้านบอกว่ามันคงหายใจไม่ออกเพราะมีตะกอนจากดินถล่มมาทับถมสูงถึง 2 เมตร ไม่น่าเชื่อว่าต้นมะขามช่วยชีวิตชาวบ้านได้ตั้ง 8 คน พอพื้นที่กำลังได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ต้นมะขามต้นนั้นก็มาตายจากไป เหลือไว้แต่ความทรงจำของชาวบ้านและนักธรณีวิทยา ที่เข้าไปประเมินเหตุการณ์ นึกขอบคุณต้นมะขามที่สอนบทเรียนนอกตำราในการช่วยชีวิตคนได้จริง
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
22 กรกฎาคม 2565
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------