Lertsin 050 สึนามิไทย เจ็บแล้วต้องรู้จัก (1)
Lertsin 050 สึนามิไทย เจ็บแล้วต้องรู้จัก (1)
"น้องเลิศ ญาติพี่ที่ภูเก็ตโทรมาบอกว่ามีคลื่นยักษ์ถล่มภูเก็ต มีคนตายด้วย ช่วยหารายละเอียดเพิ่มเติมให้ที" พี่อิ๊ด นักธรณีวิทยา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอัญมณีโทรมาหาตอนสายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ผมเปิดทีวีดูเผื่อมีข่าวด่วน จะได้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ทุกช่องก็ยังเป็นรายการปรกติ ไม่มีอะไรผิดสังเกต ได้โทรประสานหน่วยงานท้องถิ่น ก็ได้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อยว่า มีคลื่นพัดเข้ามาถึงล้อบบี้โรงแรมแถวหาดกะตะ มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 10 กว่าคน ตอนนั้นเกิดความสับสนว่ามันคืออะไร คงเป็น คลื่นยักษ์สึนามิ เพราะมีรายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวใกล้ เกาะสุมาตรา ความรู้เกี่ยวกับสึนามิของเรามีน้อยมาก ได้มาจากการอ่านตำราเท่านั้นไม่เคยได้สัมผัสของจริง
ใกล้เที่ยง ได้ข่าวเพิ่มเติมมากขึ้น มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตนับร้อย เริ่มมั่นใจว่าคงเกิดจากภัยสึนามิจริง ตอนบ่าย กรมทรัพย์ฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องคลื่นยักษ์จากแผ่นดินไหวถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก (ในขณะออกแถลงการณ์ มีรายงานการเสียชีวิตร้อยกว่าคน) และมอบหมายให้ผมเป็น ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจธรณีพิบัติภัย อันสืบเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ เพื่อทำความรู้จักกับมหันตภัยชนิดนี้
ให้ชัดเจนอันจะนำไปสู่แนวทางการป้องกันและลดผลกระทบในอนาคต เพราะธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งไม่เคยเกิดครั้งเดียวแล้วหายไปเลย ต้องมีเกิดซ้ำแน่ๆ เพียงแต่จะเกิดเมื่อไรต้องหาคำตอบให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น กรมทรัพย์ เชื่อว่าต้องมีธรณีพิบัติภัยอื่น ตามมาอีกแน่ ซึ่งก็เป็นจริงภายใน 3 เดือน หลังเหตุการณ์สึนามิได้เกิด เหตุหลุมยุบ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง เกือบ 100 ครั้งในพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ
ทีมงานได้ลงพื้นที่ทำการศึกษากระบวนการเกิดสึนามิอย่างจริงจัง ทำงานกันอย่างไม่มีวันหยุด ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ได้เห็นสภาพความเสียหายของพื้นที่ มันช่างรันทดหดหู่ใจเกินบรรยาย ทีมที่เข้าพื้นที่ นอกจากเก็บหลักฐานทางวิชาการแล้ว ยังต้องช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพอยู่บ่อยครั้ง เพราะแม้เหตุการณ์ผ่านไปเป็นเดือนก็ยังมีร่างที่ปราศจากวิญญานลอยมาติดชายหาดอยู่เนืองๆ ประมาณว่าผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์สึนามิในครั้งนี้ เฉพาะในประเทศไทยมีนับหมื่นราย ถ้านับทั้งโลกคงใกล้ 3 แสนราย เมืองบันดาอาเจะห์ ตอนเหนือของ เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ตึกพังเกือบทั้งเมือง ตามมาด้วยสึนามิถล่มซ้ำจนราบพนาสูร มีผู้เสียชีวิตแสนกว่าราย
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยา ของสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 00.58 UTC. หรือตรงกับเวลา 7.58 น. ของไทย เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 9.3 Mw. และได้ปลี่ยนเป็น 9.1 Mw. มีศูนย์กลางการเกิดอยู่นอก ชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากนานๆ เกิดที มีกำลังมากมายมหาศาล หากเปรียบให้เห็นชัดขึ้น แผ่นดินไหว ขนาด 6.5 Mw. ปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าแผ่นดินไหว ขนาด 7.5 Mw. จะปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิดปรมาณู 30 ลูก ถ้า 8.5 Mw. เท่ากับปรมาณู 900 ลูก ถ้า 9.5 Mw. เท่ากับปรมาณู 27,000 ลูก ดังนั้นแผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงปลดปล่อยพลังงานเกือบเท่ากับระเบิดปรมาณู 20,000 ลูก มีรายงานว่าตรงศูนย์เกิดแผ่นดินไหว แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียมุดลงทำให้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียยกตัวขึ้น 20 เมตร เป็นระยะทางยาวมากกว่า 1,200 กิโลเมตร ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ สูงเกิน 10 เมตร เดินทางไปทำความเสียหายให้เมืองชายทะเลเกือบทั่วโลก
แก่นสำคัญของ วิชาธรณีศาสตร์ กล่าวไว้ว่า "ปัจจุบันเป็นกุญแจไขไปสู่อดีต" แม้ว่าไม่เคยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสึนามิในประเทศไทย แต่ถ้าเคยเกิดขึ้นจริง โลกจะต้องบันทึกเหตุการณ์นั้นไว้ในรูปของตะกอนสึนามิแน่นอน ทีมงานได้ทำการศึกษาลักษณะของตะกอนสึนามิที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน จดจำลักษณะเด่นต่างๆ แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับตะกอนดินทรายที่สะสมมาในสมัยยุคโฮโลซีน หรือย้อนหลังไป 11,650 ปีจนถึงปัจจุบัน เราได้พบหลักฐานชั้นตะกอนที่กลาง เกาะพระทอง และเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า พังงา มีลักษณะเหมือนกับตะกอนสึนามิที่เพิ่งเกิด เรามั่นใจมากว่านี่คือ หลักฐานสำคัญของการเกิดสึนามิในอดีต คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เอาตะกอนสึนามินี้ไปวัดอายุ ได้ 600 ปี แสดงว่าพื้นที่นี้เคยถูกสึนามิถล่มมาเมื่อ 600 ปีที่ผ่านมา บนเกาะคอเขา มีหลักฐานเมืองโบราณ มีลูกปัดและโบราณวัตถุมากมาย ที่แสดงถึงเส้นทางการค้าระหว่างเปอร์เซียกับจีนเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว มีบันทึกทางโบราณคดีว่า คือ เมืองตะโกลา แล้วบอกว่าล่มสลายไปโดยไม่ทราบสาเหตุส่วนใหญ่จะอ้างถึงโรคระบาด ถึงตอนนี้น่าจะพอบอกได้ชัดว่า สึนามิ คือ ต้นเหตุของการล่มสลาย และสึนามิที่เกิดเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ต้องมีขนาดใหญ่กว่าสึนามิ พ.ศ. 2547 แน่นอน เพราะจุดที่พบตะกอนสึนามิ 600 ปี อยู่กลางเกาะ ในขณะที่เกาะทั้งสองได้รับความเสียหายจากสึนามิ พ.ศ. 2547 เพียง 1 ใน 4 ของเกาะเท่านั้น
แม้ว่าสึนามิครั้งนี้ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าไม่มีชาวเลมอแกน ที่อาศัยอยู่ริมทะเลรับอันตรายใดๆ เลย มีเพียงทรัพย์สินที่ถูกกวาดลงทะเลไปหมดทำให้พวกเขาสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน เมื่อได้เข้าไปพูดคุยถึงแนวทางการหลบภัยสึนามิ ได้ทราบว่าพวกเขารู้จักสึนามิผ่านบทเพลงกล่อมลูก ที่ได้มีการพูดถึง "ละบูน" ซึ่งหมายถึง คลื่นยักษ์ในทะเล ไม่ทราบแน่ชัดว่าชาวมอแกนที่ปรกติเป็นชนเร่ร่อนหากินในทะเลได้มาตั้งหลักปักฐานในไทยฝั่งอันดามันเมื่อไรแน่ พวกเขาบอกว่าเกิน 200 ปี หรือว่าจะมีสึนามิเกิดขึ้นมาอีกมากกว่า 1 ครั้งในระยะเวลา 600 ปี เมื่อศึกษาย้อนลงไป พบเหตุการณ์ที่เป็นไปได้มากสุดคือเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หรือเมื่อ 121 ปีก่อนเกิดสึนามิ 2547 มีการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟ อานัก กรากระตั้ว จนทำให้เกาะจมทะเล เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดสึนามิ มีบันทึกผู้เสียชีวิตในอินโดนีเซียมากกว่า 30,000 คน ชาวมอแกนอาจได้ประสบกับพิษภัยของสึนามิโดยตรง จึงได้สั่งสอนกันมารุ่นสู่รุ่นจนมาเห็นผลชัดเจนที่ไม่มีชาวมอแกนเสียชีวิตจากสึนามิ 26 ธันวาคม 2547 เลยสักคนเดียว
นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย ร่วมกับนักวิชาการของ กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการศึกษาตะกอนสึนามิที่ เกาะคอเขา ได้ผลออกมาว่ามีคาบอุบัติซ้ำ 100 กว่าปี คำว่า "คาบอุบัติซ้ำ" ทำหลายคนเข้าใจผิดว่า ต้องรออีก 100 ปี ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ถึงจะเผชิญกับสึนามิ แต่ในทางวิชาการ คำว่า คาบอุบัติซ้ำ 100 ปี หมายถึง จากวันนี้จนถึง 100 ปี ต้องมีสึนามิเกิดขึ้นมา 1 ครั้งจะเป็น ปีนี้ อีก 10 ปี อีก 50 ปี หรืออีก 100 ปีก็ได้ เมื่อเกิดแล้วก็เริ่มนับวงจรกันใหม่ ดังนั้นสินามิไทย คงมีการเกิดซ้ำ แต่เราคงไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์แห่งการสูญเสียต้องซั้ำรอย เจ็บแล้วต้องทำความรู้จัก เมื่อรู้จักแล้วจะไม่ตื่นตระหนกตกใจ จนไม่กล้าเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามัน ดินแดนที่มีวิวทิวทัศน์สวยที่สุดติดอันดับโลก สึนามิแม้เป็นมหันตภัยร้าย แต่มันไม่ใช่ภัยเงียบเหมือนแผ่นดินไหว จะต้องมีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าเสมอ มีเวลาหลบภัยได้ทันแน่นอน
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
6 กันยายน 2565
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------