Lertsin 050 สึนามิไทย เจ็บแล้วต้องรู้จัก (3)
Lertsin 052 สึนามิไทย เจ็บแล้วต้องรู้จัก (3)
ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวและสึนามิเกิดขึ้นใน ญีปุ่น บ่อยมาก สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย พวกเขาจึงพัฒนาระบบเตือนภัยขึ้นมา จนได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าแห่งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ขนาดแผ่นดินไหวที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกบอกว่าทำนายไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ ญี่ปุ่นใช้ความเร็วที่แตกต่างกันเพียงไม่กี่วินาทีระหว่างคลื่นปฐมภูมิและคลื่นผิวดินมาสร้างระบบสั่งรถไฟชินคันเซน และลิฟท์ในตึกสูงให้หยุดทำงานได้ มีการสร้างกำแพงกันคลื่นสูงถึง 12 เมตร เกือบตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮอนชู มีระบบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างทั่วถึง มีการสร้างอาคารที่ทนต่อแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตให้กับชาวญี่ปุ่นและชาวโลกเป็นอย่างมาก แต่แล้วระบบที่มั่นใจว่าช่วยลดผลกระทบยามเกิดภัย ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ โทโฮกุ
11 มีนาคม 2554 เวลา 14.46 น. (ตรงกับเวลา 12.46 ของไทย) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw. มีจุดศูนย์เกิดอยู่นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของ เกาะฮอนชู ตามด้วยคลื่นสึนามิสูงเกิน 10 เมตรเข้าถล่ม ภูมิภาคโทโฮกุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 20,000 คน สร้างความเศร้าสลดให้กับชาวโลกเป็นอย่างมาก แผ่นดินไหวและสึนามิในครั้งนี้รุนแรงมาก ยอดผู้เสียชีวิตสูงมาก แล้วทำไมระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่เชื่อว่าดีที่สุดในโลกไม่ช่วยลดตัวเลขการสูญเสียชีวิตเลย ทางการญี่ปุ่นแจ้งว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิต คือ การจมน้ำ แสดงว่าทั้งกำแพงกันคลื่นและระบบเตือนภัยล่วงหน้าสึนามิของญี่ปุ่นมีจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไข อยากไปดูเพื่อเรียนรู้ให้เห็นกับตา แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพราะมีภัยซ้อนขึ้นมา นั่นคือ การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
รออยู่ปีกว่าสารกัมมันตรังสีลดน้อยลงจนไม่เป็นอันตราย จึงขออนุญาตผู้บังคับบัญชาพาเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ ระบบการเตือนธรณีพิบัติภัย ไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิโดยประสานขอนักธรณีวิทยาญี่ปุ่นเป็นไกด์นำทาง พื้นที่ที่เขาพาไป คือ ตำบลยูริอาเกะ ที่มีนาฬิกาแขวนหยุดเดินตอนเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ได้รับการบูรณะไปมากแต่ก็ยังเห็นร่องรอยความเสียหาย ได้พูดคุย (ผ่านล่าม) กับชาวบ้านที่รอดตายจากสึนามิ เขาบอกว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไฟดับหมด ไม่ได้รับการเตือนภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่จากประสบการณ์ของพวกเขาคาดว่าจะเกิดสึนามิ จึงบอกให้ทุกคนขึ้นไปอยู่ที่สูงบนตึก ได้เห็นคลื่นยักษ์ถล่มเมืองชัดเจน แต่ที่ทรมานสุดๆคือตอนกลางคืนที่ต้องอยู่ท่ามกลางความมืด ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกไม่มีอะไรกินเพราะคลื่นกวาดไปหมด 2 วัน 2 คืน กว่าจะมีคนมาช่วยเหลือ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน แสดงว่าระบบเตือนภัยมีปัญหาจริงๆ ไม่สามารถแจ้งเตือนผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้ทั่วถึง ไฟดับ คือ ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ระบบการสื่อสารแจ้งเตือนภัยต้องหยุดชะงักลง
ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงระบบการเตือนภัยล่วงหน้ากับทีมวิจัยของ มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาว่า เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีการประเมินว่าต้องเกิดสึนามิแน่นอน และเป็นสึนามิขนาดใหญ่ด้วย คาดว่าจะพัดเข้าฝั่งภายใน10 - 30 นาที เพราะจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างฝั่งออกไปเพียง 70 กิโลเมตร ทางการได้ส่งสัญญานเตือนภัยไปทุกหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ให้รีบขึ้นที่สูง ผู้คนจำนวนมากรีบปฏิบัติตามแผนที่เคยซักซ้อมกันมา จนเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง ยังไม่มีวี่แววของคลื่นสึนามิ ผู้คนเริ่มชะล่าใจ คิดว่าคงเป็นอีกครั้งหนึ่งเหมือนในหลายๆครั้งที่ผ่านมา คือ เตือนแต่ไม่เกิด อีกทั้งยังมีกำแพงกันคลื่นสูงตั้ง 12 เมตร คงเอาอยู่ แม้ยังไม่มีสัญญานยกเลิกการเตือนภัย แต่ชาวบ้านจำนวนมากเริ่มลงมาจากที่หลบภัยไปยังบ้านเรือนของตัวเอง จนเวลา 15.55 น. หรือ 1ชั่วโมง 9 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิเริ่มปรากฏกาย ลูกแรกยังข้ามกำแพงไม่ได้ แต่ลูก 2-3 เกิดปรากฏการณ์คลื่นซ้อนคลื่น พัดผ่านกำแพงเข้ามาได้ เมื่อน้ำเข้าเมืองมาได้ ย้อนกลับลงทะเลไม่ได้เพราะติดกำแพงจึงได้ตระเวณไปทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ดังจะเห็นภาพรถยนต์นับหมื่นคันลอยไปตามน้ำ แต่แปลกใจมากกับผลการศึกษาวิจัยภายหลังเกิดเหตุ ที่พบว่ามีประชากรเพียง 42 % ในพื้นที่ชายฝั่ง จังหวัดอิวาเตะ มิยางิ และฟูกูชิมะ ที่ใส่ใจต่อคำเตือนคลื่นสึนามิทันทีหลังแผ่นดินไหวและมุ่งหน้าขึ้นที่สูง ในบรรดาผู้ที่พยายามอพยพหลังทราบคำเตือนดังกล่าว มีเพียง 5 % เท่านั้นที่ถูกพัดพาไปโดยคลื่นสึนามิ และในบรรดาผู้ที่ไม่ใส่ใจต่อคำเตือนมี 49 % ถูกพัดพาไปกับคลื่น แสดงว่าคนญี่ปุ่นมากกว่าครึ่ง ก็ยังไม่เชื่อฟังระบบเตือนภัยล่วงหน้าของทางการ นี่คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงมาก
ชุดความรู้ที่ได้จากการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้รู้จักภัยสึนามิดียิ่งขึ้น การสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่งอันดามันไม่ใช่คำตอบ ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ก่อคลื่นสึนามิเกิดขึ้นเกือบทุก 10 ปี ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีสามารถจัดทำได้ ซึ่งเมืองไทยก็ทำได้และคงมีการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่โทโฮกุสอนให้รู้ว่า ต่อให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าดีมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้ถ้าคนในพื้นที่เสี่ยงไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามแผนป้องกันบรรเทาภัย และไม่ร่วมมือกันซักซ้อมแผนเพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องยามทีเกิดภัยจริง
หากท่านอาศัย หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ ไม่ว่าจะที่ใดในโลกเมื่อได้รับรู้หรือได้ยินสัญญานเตือนภัย ขอได้โปรดทำตามแผน ที่แต่ละพื้นที่กำหนดไว้ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การขึ้นไปอยู่ที่สูงให้เร็วที่สุด ไม่ว่าสึนามิจะเกิดหรือไม่เกิดยังไม่ต้องรีบลงมา รอจนกว่าจะมีสัญญานยกเลิกสถานการณ์ ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าการเตือนภัยล่วงหน้า มุ่งเน้นความรวดเร็วเพื่อให้มีเวลาหลบภัยได้ทัน แม้ว่าเตือนแล้วไม่เกิดภัย ถือเสียว่าท่านมีบุญ ที่ไม่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ยากลำบากหลังเกิดมหันตภัย หากทำได้แบบนี้ มั่นใจได้เลยว่าท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของสึนามิเด็ดขาด
ที่มา
- https://www.facebook.com/เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
Lertsin บทความ เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ (Lertsin Raksaskulwong) รวมข้อมูล-------------------------------------------------