สองข้างของลำน้ำโขงที่แบ่งอาณาเขตไทยกับลาว จากมุมมองของนักธรณี
สองฝั่งของจากมุมมองของนักธรณี สองข้างของลำน้ำโขงที่แบ่งอาณาเขตไทยกับลาว บริเวณนครพนมกับท่าแขกนั้น มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน วอลเลซ ลี นักธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกาที่กรมรถไฟหลวงของสยามจ้างมาให้สำรวจถ่านหินและปิโตรเลียมเพื่อใช้ในการเดินรถจักรไอน้ำแทนฟืน ก็ได้สังเกตุเห็นและวาดรูปแสดงไว้ในรายงานการสำรวจของเขาเมื่อปี พ.ศ. 2466 แต่กำหนดให้ภูหินบุนวางตัวอยู่ถัดจากแม่น้ำโขงในทันทีทันใด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 เดวิด เวิร์คแมน นักธรณีวิทยาจากสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกาที่มาสำรวจธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อใช้พิจารณาประกอบการก่อสร้างเขื่อนผามอง ที่จะกั้นแม่น้ำโขงที่ตะวันตกของหนองคาย พบว่าระนาบเลื่อนที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านธรณีวิทยาของทั้งสองฝั่งนี้มีแนวการวางตัวในทิศประมาณตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวร่วม 200 กิโลเมตร และให้ชื่อว่าระนาบเลื่อน ท่าแขก - เซโปน (Tha Kaen - Xepon Fault)
จนถึงปี พ.ศ. 2533 นเรศ สัตยารักษ์ กับ ทรงภพ พลจันทร์ ได้แสดงภาพวาดตัดขวางแม่น้ำโขงบริเวณนครพนม ที่แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มหินโคราชอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ แต่ว่ามีการวางตัวของชั้นหินต่างกัน เนื่องจากระนาบเลื่อนที่กล่าวถึงมาแล้ว แต่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น ระนาบเลื่อน ท่าอุเทน - เชโปน (Tha Uten - Xepon Fault)
เพื่อให้มีความถูกต้องเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2562 นเรศ สัตยารักษ์จึงได้เพิ่มรายละเอียดการเคลื่อนตัวของชั้นหินสองข้างของระนาบเลื่อนว่า เมื่อมองแบบสองมิติ(จากข้อมูลการวัดคลื่นไหวสะเทือนแล้ว) ระนาบเลื่อนเหล่านี้จะเป็นเสมือนระนาบเลื่อนย้อนกลับ (Reversed Fault) นั่นคือชั้นหินตะวันออกเฉียงเหนือ จะเลื่อนขึ้นด้านบน เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ แต่เมื่อมองในแบบสามมิติแล้ว ระนาบเลื่อนนี้ที่แท้จริงเป็นระนาบเลื่อนเหลื่อมด้านข้างที่ชั้นหินฝั่งตรงกันข้ามเคลื่อนตัวไปทางขวา (Right Lateral Strike Slip Fault) ถ้าจะอธิบายด้วยการเคลื่อนตัวของลูกธนูก็คือ หากเราไปยืนที่แม่น้ำโขงแล้วมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ฝั่งลาวจะเคลื่อนที่มาหาเรา เสมือนเรามองดูหัวธนู ส่วนฝั่งไทยจะเคลื่อนออกไปจากตัวเรา เสมือนเรามองเห็นปีกหางธนู
เว้าจั่งสิแล้ว เจ้าเข้าใจบ่ล่ะ อ้ายสารวัตร
.
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------